Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

22 เมษายน 2556 (บทความ) จากอดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ไอซีที (3G HSPA กับความยุ่งยากของ กสทช.และ กสท.) // ถ้าถือมือศาลคงเดือนร้อนกันหมด

ประเด็นหลัก


อย่างไรก็ตาม ในปี 2546 กฤษฎีกาเคยให้ความเห็นต่อกรณีที่ CAT ขอหารือเรื่องเช่าเครื่องและอุปกรณ์ระบบ CDMA 2000 จากบริษัทเอกชนมาแล้ว ซึ่งกฤษฎีกาก็ให้ความเห็นว่าการเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมจากบริษัทเอกชนไม่ใช่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมเช่นกัน เพราะไม่ได้ให้บริการแก่คนทั่วไป แต่ความเห็นดังกล่าวนี้มีขึ้นก่อนมีการตั้ง การโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่ง กทช.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 กำหนดประเภทของการให้บริการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับอนุญาตและผู้ใดทำอยู่ก่อนต้องมาขอใบอนุญาตโดยต้องมายื่นคำขอภายใน 90 วัน หากผู้นั้นประสงค์ที่จะให้บริการต่อไป จึงเป็นเรื่องที่ กสทช.จะต้องคิดหนัก เพราะ กสทช.ไม่ใช่ศาลที่จะพิจารณาพิพากษาได้ว่าผู้ใดมีเจตนาในการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดอาญาต่อรัฐด้วย

ส่วนประเด็นที่ว่าการที่ CAT มอบให้ Real Move เป็นผู้ทำการขายต่อโครงข่ายบริการ 3จี จะถือเป็นการร่วมทุนตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมการงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่นั้น แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะเคยมีคำพิพากษาวางหลักไว้ว่า การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลทำให้สัญญาไม่ผูกพันกันเท่านั้นไม่รุนแรงถึงขึ้นเป็นโมฆะ และหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการสามารถดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายใหม่ให้ถูกต้องแล้วเสนอ ครม.พิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญก็อาจให้ความเห็นชอบให้มีผลผูกพันได้ก็จริง

แต่สัญญาระหว่าง CAT กับกลุ่มทรูนี้ยังมีประเด็นว่า จะเป็นความผิดเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 และประกอบกิจการให้บริการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 รวมอยู่ด้วย

ถ้าศาลพิพากษาว่าเป็นความผิดในประเด็นหลังนี้ คงเดือดร้อนกันไปหมดทั้งกระทรวงไอซีที CAT และคู่สัญญา เพราะอย่าลืมว่า ศาลฎีกาเคยวางบรรทัดฐานไว้ตลอดมาว่า การกระทำที่ฝ่าฝืนสิ่งที่ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายไปแล้ว แม้ต่อมาภายหลังจะได้รับอนุญาต ก็ไม่ทำให้สิ่งที่เคยผิดในเรื่องที่ไม่ได้รับอนุญาตมาก่อน ให้เป็นเรื่องถูกต้องขึ้นมาได้


____________________________________



3G HSPA กับความยุ่งยากของ กสทช.และ กสท.

โดย มั่น พัธโนทัย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ไอซีที

ถึงจะผ่านมาเกือบ 5 ปีแล้ว ผมก็ยังคงจำภาพของ ท่านสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับไปแล้วได้ดี ในวันที่ผมไปเยี่ยมท่านซึ่งกำลังป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยคุณธีรพล นพรัมภา (โป๋) อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พาเข้าไปคุยด้วย ท่านบอกผมว่า ให้เดินหน้าโครงการ 3จี ให้สำเร็จในยุคของท่าน เพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่กระทรวงไอซีทีที่ผมรับผิดชอบดูแลอยู่ จะต้องทำให้ทันการพัฒนาที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4จี แล้วในขณะที่เรายังเป็น 2จี อยู่

ท่านยังเล่าว่า อันที่จริงในสมัยท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คลื่น 3จี นั้น ท่านเป็นคนเอามาให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย องค์การสื่อสารแห่งประเทศไทย และวิทยุการบิน ร่วมกันไปดำเนินการบนคลื่นความถี่ 1,900 เมกะเฮิรตซ์ หลังจากกลับจากไปดูกิจการโทรคมนาคมที่ฮ่องกงและได้เห็นคนฮ่องกงใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งสมัยนั้นเป็นกล่องแบตเตอรี่ที่ต้องหิ้วติดมือไปด้วยและถือว่าเป็นเครื่องโทรศัพท์ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นคือไม่มีสาย และเมื่อท่านออกจากโรงพยาบาลมาแล้ว ผมจึงสั่งการให้นำโครงการลงทุนพัฒนาระบบ 3จี ของกระทรวงไอซีที เสนอสภาพัฒน์พิจารณาตามหลักการลงทุนโครงการใหญ่และนำเข้า ครม. ซึ่งท่านสมัครก็เป็นผู้อธิบายหลักใช้เวลาเพียง 20 นาที ครม.ก็ผ่านให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการต่อไปได้

ด้วยความที่เกรงว่าจะตกยุคและเสียโอกาสในการพัฒนาของประเทศไทยและคนไทย ผมในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีนั้น กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. หรือ CAT คือคุณจิรายุทธ รุ่งศรีทอง (เจ) ได้มาหารือถึงแนวทางการเปิดโครงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้ระบบ HSPA ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ "คล้าย 3จี" บนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ของ CAT มาให้คนไทยได้ใช้กันก่อน จากนั้นก็ได้เชิญผู้บริหารบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งบริษัทภาคเอกชนและองค์การของรัฐ คือ AIS, DTAC, TRUE, TOT และ CAT มาหารือซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจนมีการเปิดแถลงข่าวที่จะเดินหน้าระบบ HSPA

แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ได้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองถึงขั้นมีการบุกยึดทำเนียบและสนามบินสุวรรณภูมิขึ้น การดำเนินการจึงต้องชะงักไป

แม้ว่าต่อมา CAT จะได้ทำสัญญากับกลุ่มบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น (BFKT) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 ในโครงการ 3G HSPA หลายฉบับแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถูกทักท้วงถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายจากหลายฝ่าย และมีการยื่นเรื่องให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาดำเนินการสอบสวน ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. สตง. ดีเอสไอ กระทรวงไอซีที คณะกรรมาธิการวุฒิสภา รวมถึง กสทช.ด้วย

โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง นักวิชาการและสื่อมวลชน ต่างเห็นว่ามีพิรุธ ผิดหลักการและผิดกฎหมายหลายฉบับ เช่น BFKT ที่เป็นผู้จัดหาเครื่องและอุปกรณ์ระบบ 3จี ให้ CAT เช่าใช้นั้นถือเป็นผู้ประกอบกิจการโดยไม่มีใบอนุญาต และการที่ CAT มอบให้ Real Move เป็นผู้ทำการขายต่อโครงข่ายบริการ 3จี จะถือเป็นสัญญาร่วมทุนหรือไม่



สําหรับข้อแรกนั้น ในที่สุดคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้ประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 แล้วมีมติว่า การประกอบกิจการของ BFKT เป็นเพียงผู้ให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมแก่ CAT รายเดียวจึงไม่อยู่ในข่ายเป็นผู้ประกอบกิจการที่ต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช. และ BFKT ไม่มีเจตนากระทำความผิด โดยในวันรุ่งขึ้น สำนักงาน กสทช.ก็ได้แถลงชี้แจงข้อเท็จจริง 8 ข้อยืนยันว่า บอร์ด กทค.มีมติถูกต้องและเหมาะสมที่สุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2546 กฤษฎีกาเคยให้ความเห็นต่อกรณีที่ CAT ขอหารือเรื่องเช่าเครื่องและอุปกรณ์ระบบ CDMA 2000 จากบริษัทเอกชนมาแล้ว ซึ่งกฤษฎีกาก็ให้ความเห็นว่าการเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมจากบริษัทเอกชนไม่ใช่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมเช่นกัน เพราะไม่ได้ให้บริการแก่คนทั่วไป แต่ความเห็นดังกล่าวนี้มีขึ้นก่อนมีการตั้ง การโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่ง กทช.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 กำหนดประเภทของการให้บริการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับอนุญาตและผู้ใดทำอยู่ก่อนต้องมาขอใบอนุญาตโดยต้องมายื่นคำขอภายใน 90 วัน หากผู้นั้นประสงค์ที่จะให้บริการต่อไป จึงเป็นเรื่องที่ กสทช.จะต้องคิดหนัก เพราะ กสทช.ไม่ใช่ศาลที่จะพิจารณาพิพากษาได้ว่าผู้ใดมีเจตนาในการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดอาญาต่อรัฐด้วย

ส่วนประเด็นที่ว่าการที่ CAT มอบให้ Real Move เป็นผู้ทำการขายต่อโครงข่ายบริการ 3จี จะถือเป็นการร่วมทุนตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมการงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่นั้น แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะเคยมีคำพิพากษาวางหลักไว้ว่า การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลทำให้สัญญาไม่ผูกพันกันเท่านั้นไม่รุนแรงถึงขึ้นเป็นโมฆะ และหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการสามารถดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายใหม่ให้ถูกต้องแล้วเสนอ ครม.พิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญก็อาจให้ความเห็นชอบให้มีผลผูกพันได้ก็จริง

แต่สัญญาระหว่าง CAT กับกลุ่มทรูนี้ยังมีประเด็นว่า จะเป็นความผิดเกี่ยวกับการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 และประกอบกิจการให้บริการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 รวมอยู่ด้วย

ถ้าศาลพิพากษาว่าเป็นความผิดในประเด็นหลังนี้ คงเดือดร้อนกันไปหมดทั้งกระทรวงไอซีที CAT และคู่สัญญา เพราะอย่าลืมว่า ศาลฎีกาเคยวางบรรทัดฐานไว้ตลอดมาว่า การกระทำที่ฝ่าฝืนสิ่งที่ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายไปแล้ว แม้ต่อมาภายหลังจะได้รับอนุญาต ก็ไม่ทำให้สิ่งที่เคยผิดในเรื่องที่ไม่ได้รับอนุญาตมาก่อน ให้เป็นเรื่องถูกต้องขึ้นมาได้



ด้วยเพราะโลกในวันนี้ไม่เหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ประเทศไทยบริหารทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติด้วยระบบ "สัมปทาน" แล้วค่อยๆ พัฒนามาเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) จนกลายมาเป็นกำหนดให้กิจการโทรคมนาคมต้องแข่งขันกันอย่างเสรีโดยให้รัฐมีอำนาจเพียงแค่กำหนดกติกาและกำกับดูแล หรือที่เรียกว่า ระบบ "regulator" ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เท่านั้น

ระบบสัมปทานที่เคยเป็นอำนาจของ TOT และ CAT และเป็นแหล่งรายได้หลักตลอดมาจึงกำลังจะหมดไปตามอายุสัมปทานในอีกไม่นานนี้แล้ว เพราะต้องเข้าสู่ระบบแข่งขันเสรีในโลกยุคใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ขณะที่องค์กรตนเองก็มีบุคลากรมากมายกว่าบริษัทเอกชน แต่ก็ไม่สามารถทำตลาดแข่งขันกับผู้ประกอบกิจการเอกชนรายอื่นอย่าง AIS DTAC และ TRUE ได้เพราะติดด้วยระบบ Red Tape ของราชการและบอร์ดที่มาจากฝ่ายการเมือง ซึ่งผิดกับเอกชนที่คิดแล้วตัดสินใจทำได้เลย

ยิ่งวันนี้ กสทช.ได้เปิดประมูลและออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี ให้แก่เอกชนผู้ชนะการประมูลไปแล้วและกำลังเริ่มจะทยอยเปิดให้บริการในปีนี้กันแล้ว จึงดูเหมือนบริษัทเอกชนเดินหน้าได้เร็วกว่าองค์กรของรัฐ

นอกจากนี้มีข้อมูลจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้เสนอรายงานการสอบบัญชีและการเงินของ TOT และ CAT เมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะมีรายได้เป็นเงินสดจากค่าสัมปทานรวมกันระหว่างปี 2553-2561 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ CAT มีกับ DTAC (TRUE กับ CAT มีถึงกันยายน 2556 นี้ และ AIS มีกับ TOT ถึง 2558) เป็นเงิน 230,000 ล้านบาท แต่ถ้าลูกค้าทั้งหมดของเอกชนดังกล่าวย้ายเลขหมายจากระบบ 2จี ไปเป็น 3จี ตามที่ประมูลมาได้ TOT กับ CAT จะเหลือเงินได้จากสัมปทานเพียง 70,000 ล้านบาท หรือหายไปถึง 70% แล้วจะอยู่กันอย่างไร

ผมเองในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ก็เป็นห่วงและให้ความสำคัญกับปัญหานี้มาตลอด โดยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ TOT กับ CAT ได้รับจัดสรรไปและร่วมทุนกันก่อตั้งบริษัท Thai Mobile เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2จี ในระบบ GSM แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการให้บริการลูกค้าแข่งขันกับผู้ให้บริการภาคเอกชนรายอื่นๆ นั้น

อันที่จริงมันเป็นคลื่นความถี่สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3จี สากลชุดเดียวกันกับคลื่นความถี่ 2,100 เมกะเฮิรตซ์ที่ กสทช. เพิ่งเปิดประมูลไปเมื่อเร็วๆ นี้ แถมแบนด์วิทที่มีอยู่ก็มากถึง 15 เมกะเฮิรตซ์ เพียงพอเปิดให้บริการ 3จี ได้เต็มประสิทธิภาพอีกทั้งยังจะทำให้มีศักยภาพในการแข่งขันบริการลูกค้าสร้างรายได้เหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่นที่ยังเป็นระบบ 2จี ทั้งหมดอย่างมาก ผมจึงได้เชิญผู้บริหารของ TOT และ CAT หารือกันและตกลงให้ TOT ซื้อหุ้น 49% ในบริษัท Thai Mobile ที่ CAT ถืออยู่ทั้งหมดคืนมา ทั้งนี้ก็เพื่อให้ TOT สามารถนำไปปรับเปลี่ยนเปิดให้บริการเป็นระบบ 3จี ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องพะวงและเสียเวลาไปกับขั้นตอนการพิจารณาของบอร์ด CAT อีก

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่ผมพยายามผลักดันดังกล่าวข้างต้น ประเทศไทยและคนไทยก็จะมี 3จี แท้ๆ ใช้มาตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว และ TOT ก็คงมีรายได้หลักมาแทนรายได้จากสัมปทานที่ให้ AIS เปิดให้บริการ 2จี บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่กำลังจะสิ้นอายุลงในปี 2558 นี้



ส่วนในกรณีของ CAT นั้น ก็เป็นดังที่กล่าวถึงข้างต้นแล้วว่า ได้มีการนำคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ มาเปิดให้บริการ 3จี โดยทำสัญญาเช่าอุปกรณ์จาก BFKT รวมทั้งมอบให้ Real Move เป็นผู้ทำการขายต่อโครงข่ายบริการ 3จี ภายใต้ชื่อ 3G MY ซึ่งเมื่อเริ่มให้บริการลูกค้าได้เพียง 2 แสนรายก็มีอันต้องชะงักลง ยังไม่สามารถขอรับเลขหมายเพิ่มจาก กสทช.ได้ เนื่องจากยังมีประเด็นถูกร้องเรียนฟ้องร้องในหลายกรณี และถึงแม้ว่า กทค.จะได้มีมติชี้ขาดไปแล้วว่า BFKT สามารถให้เช่าอุปกรณ์ระบบ 3จี แก่ CAT ได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีขวากหนามในข้อกฎหมายอีกหลายประเด็นที่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร และอาจมีผลให้รายได้จากโครงการนี้เพื่อเข้ามาแทนรายได้จากสัมปทานที่กำลังจะหมดไปอาจไม่มากเท่าหรือไม่เป็นไปตามที่ CAT คาดหวังไว้เลยก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม CAT ก็หวังรายได้จากการให้เช่าโครงสร้างพื้นฐานที่ตนมีอยู่ก่อนคือ Tower Cooperation (เสาและสถานี) Fiber Co. (คือให้เช่าระบบไฟเบอร์ออพติกที่ CAT เป็นที่หนึ่งอยู่) และโทรศัพท์ต่างประเทศที่ต้องแข่งเรื่องบริการและราคากับเอกชนตลอดเวลา

โดยสรุปแล้ว ภายใต้สถานการณ์ในยุคที่ยังมีแต่ปัญหาเรื่องยุ่งยากมากมายอย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ทั้ง TOT และ CAT จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบปรับตัวเพื่อดำเนินธุรกิจใหม่ๆ แสวงหารายได้ประจำเข้ามาทดแทนรายได้จากการให้สัมปทานที่กำลังจะหมดไป ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารการใช้คลื่นความถี่ที่จะยังคงถือครองให้บริการในระบบ 3จี อยู่ต่อไปได้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการบริหารจัดการทรัพยากรโทรคมนาคมในระบบ 2จี ต่างๆ ที่จะได้รับมอบคืนจากผู้รับสัมปทานภายหลังอายุสัมปทานสิ้นสุดลง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเสาและสถานีฐานที่มีรวมกันกว่า 30,000 สถานี อันนับว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีจำนวนมากและครอบคลุมอยู่ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการ 3จี รายใหม่ที่มีภาระต้องขยายโครงข่ายของตนให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศให้ทันเวลาตามเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนดไว้ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าการลงทุนสร้างโครงข่ายของตนเองขึ้นใหม่ย่อมไม่ทัน และที่สำคัญมีต้นทุนสูงกว่าการเช่าโครงข่ายที่มีอยู่แล้วของ TOT และ CAT อย่างมาก

นอกจากนี้ในส่วนของ CAT นั้น ก็สมควรให้ความสำคัญกับการพัฒนา การบริหารจัดการโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดของไทยและการให้บริการให้มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะการวางสายเคเบิลใต้น้ำเพิ่มไปยังลาวและพม่าซึ่ง ครม.อนุมัติงบลงทุนให้แล้วด้วย เนื่องจากความต้องการใช้บริการยังคงมีอัตราการขยายตัวสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผมต้องขอชมเชยผู้บริหารของบริษัทไปรษณีย์ไทย (POST) ที่ปรับตัวสู้กับอุปสรรคได้รวดเร็วจนกิจการเจริญก้าวหน้า

จําได้ว่า ในวันที่ผมไปทำพิธีปิดการให้บริการโทรเลข ณ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขเดิมที่สี่พระยา ถนนเจริญกรุงในวันที่ 30 เมษายน 2551 นั้น มีอดีตอธิบดีมาร่วมพิธีด้วยความอาลัยหลายท่าน

ผมนึกในใจว่า แล้วไปรษณีย์จะอยู่กันอย่างไรเมื่อไม่มีบริการโทรเลขอีกต่อไปแล้วคงเหลือแต่ขายแสตมป์ และพนักงานนับหมื่นจะเป็นอย่างไร เมื่อเคยส่งจดหมายและโทรเลขให้ผู้รับทุกหัวระแหงของประเทศ

แต่เราก็ได้คณะบริหารโดย คุณออมสิน ชีวะพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และคนต่อๆ มาจนถึงปัจจุบันคือ คุณอนุสรา จิตมิตรภาพ ซึ่งเป็นลูกหม้อไปรษณีย์ทั้งหมดมาทำการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการบริหารงาน มีการริเริ่มสร้างนวัตกรรมการบริการใหม่ๆ ขึ้นมากมาย

เช่น การพัฒนาบริการรับขนส่งสินค้าและวัสดุภัณฑ์ซึ่งเดี๋ยวนี้ แม้แต่ DHL ก็ยังส่งให้ผู้รับที่อยู่ถิ่นกันดารไม่ได้ การรับเรื่องทำ VISA ให้สถานทูตต่างๆ การรับโอนเงินแบบ Western Union การขยายสาขาไปรษณีย์ให้เอกชนทำ ฯลฯ วันนี้ POST จึงสามารถเดินหน้าสร้างรายได้และบริการประชาชนอย่างเต็มภาคภูมิต่อไปได้อย่างสบายแล้ว

ผมก็อยากเห็นทั้ง TOT และ CAT ไปได้อย่าง POST เพียงแต่ว่ามันจะไม่เหมือน POST ตรงที่ TOT กับ CAT มีการเมืองและผลประโยชน์เข้าไปเกี่ยวข้องมาก และมีหลายองค์กรกำกับดูแล TOT พอผ่านไปได้แล้วแต่ก็ยังเป็นห่วง CAT ที่ยังติดขวากหนามทางกฎหมายอยู่ในขณะนี้


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1366628314&grpid=03&catid=03

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.