Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

21 มกราคม 2557 กสทช.เศรษฐพงค์ กำลังนำร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม(เกิน 40% เป็นรายใหญ่) ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์)


ประเด็นหลัก

ร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์)


______________________________________

กสทช.เตรียมประชาพิจารณ์แก้ร่างประกาศ'อำนาจเหนือตลาด'ก.พ.

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


กสทช. ผ่านร่างประกาศผู้มีอำนาจเหนือตลาดแล้ว หลังแก้ไขปรับปรุงใหม่นานนับ 2 ปี ยืนส่วนแบ่งตลาดเกิน 40% เป็นรายใหญ่



พร้อมแก้เงื่อนไขคำนิยาม ค้าส่ง-ค้าปลีกตลาดโทรคม เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นปลาย ก.พ.

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ล่าสุดมีมติเห็นชอบการแก้ไขปรับปรุงร่าง ประกาศ กสทช. 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศ กสทช. เรื่องนิยามของตลาด และขอบเขตตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. ...

และร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์)

ทั้งนี้ หัวข้อหลักๆ ในการแก้ไขปรับปรุงร่างประกาศฯ ดังกล่าว ฉบับแรกเป็นการแก้ไขร่างประกาศนิยามของตลาดฯ พ.ศ. ... คือตลาดค้าปลีกบริการ 5 ตลาด ได้แก่ 1. การให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ภายในประเทศ 2. บริการโทรศัพท์เคลื่อนภายในประเทศ 3. บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างประเทศ 4.บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ 5. บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่

และตลาดค้าส่งบริการ ได้แก่ 1.บริการเกตเวย์อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ 2.บริการเกตเวย์โทรศัพท์ระหว่างประเทศ 3.บริการรับสายผ่านโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ 4.บริการสายผ่านโครงข่ายโทรศัพท์ที่ 5.บริการเข้าถึงบรอดแบนด์ และ 6.บริการวงจรเช่า การแก้ไขดังกล่าว กสทช.มีจุดประสงค์ เพื่อให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ร่างประกาศฯ ฉบับที่ 2 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาด (เอสเอ็มพี) ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.... มีแก้ไขจากเดิมที่มีเกณฑ์กำหนดไว้ว่าผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 40% ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดยังคงกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาเดิมตามหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์

ส่วนระดับ 20-40% ให้เข้าข่ายผู้มีอำนาจเหนือตลาด และไม่ถึง 20% ไม่ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด

"ในตลาดโทรศัพท์มือถือค่อนข้างจะชัดเจน เพราะทุกรายเข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยค่ายมือถือมีส่วนแบ่งราว 30% ไม่ห่างกันมาก แต่ที่เรากำหนดคุณลักษณะหรือเกณฑ์การวัดใหม่ก็เพื่อต้องการให้การกำกับดูแลป้องกันการผูกขาด และการกีดกันรายอื่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

เขา ระบุว่า การแก้ไขดังกล่าวกำหนดให้พิจารณาพฤติกรรมที่ต่อต้านการแข่งขันเพิ่มเติม โดยให้แก้ไขค่าดัชนีเอชเอชไอ สำหรับตลาดที่กระจุกตัวสูงจาก 1800 เป็น 2500 เนื่องจากกิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่มีแนวโน้มแข่งขันต่ำ โดยธรรมชาติของกิจการมีผู้ประกอบการน้อยราย หรือกระจุกตัวสูง หากกำหนดเกณฑ์ที่ต่ำเกินไปอาจทำให้ตลาดที่เกี่ยวข้องทุกตลาดกระจุกตัวสูงและอาจมีผู้อำนาจเหนือตลาดรายเดิม

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบางประเทศปรับเพิ่มเกณฑ์เอชเอชไอให้เหมาะสมกับสภาพตลาดปัจจุบัน และเหมาะสมกับสภาพโดยธรรมชาติของกิจการโทรคมนาคม ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศ กสทช.ฉบับดังกล่าว คือ 1. สำนักงาน กสทช.จะดำเนินการเชิญชวน โดยจะเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานไม่น้อยกว่า 30 วัน หลังบอร์ดมีมติเห็นชอบ และส่งหนังสือเชิญชวนไปยังบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.รูปแบบการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ด้วยการยื่นเอกสารแสดงความคิดเห็นทางไปรษณีย์ และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะครั้งนี้ได้ราวปลายเดือน ก.พ.2557

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/it/20140121/557620/%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%8A.%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%81.%E0%B8%9E..html

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.