Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

28 เมษายน 2557 (เกาะติดประมูล4G) กทค. ระบุ ปัจจุบันการทำ 4G LTE จำนวนความถี่เพียง 1.4 MHz ก็มีความหมายสามารถนำไปเปิดให้บริการได้เช่นเดียวกัน ต่างจากการประมูล 3G ในความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ต้องมีความถี่อย่างต่ำ 5 MHz


ประเด็นหลัก

   ส่วนการที่ กทค.ตัดสินใจนำเอาความถี่ 1800 MHz ในส่วนของการ์ดแบนด์ (Guard Band) จำนวน 2.5 MHz มารวมเพื่อประมูลด้วย ทั้งที่ในตอนแรกมองว่าจะไม่ได้นำมารวมด้วยนั้น เนื่องจากปัจจุบันการทำ 4G LTE จำนวนความถี่เพียง 1.4 MHz ก็มีความหมายสามารถนำไปเปิดให้บริการได้เช่นเดียวกัน ต่างจากการประมูล 3G ในความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ต้องมีความถี่อย่างต่ำ 5 MHz ถึงจะนำมาเปิดให้บริการได้


______________________________________


ไขปมประมูล 1800/900 MHz



       ในราวกลางเดือน ส.ค. 2557 ประเทศไทยจะมีการประมูลความถี่ 1800 MHz และช่วงเดือน พ.ย.ปีเดียวกันก็จะจัดให้มีการประมูลความถี่ 900 MHz หรือที่เรียกกันติดปากว่าการประมูล 4G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) โดยมติบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 23 เม.ย.เห็นชอบกับร่างประกาศฯ ประมูลความถี่ 1800 MHz ที่กำหนดราคาตั้งต้นการประมูลที่ 11,600 ล้านบาทไปแล้ว ที่เหลือก็เพียงเดินตามขั้นตอนต่อไปเท่านั้น
     
       สิ่งที่ตามมาคือคำถามที่ยังคาใจว่าราคาตั้งต้นการประมูล (reserve price) และการกำหนดเพดานการถือครองความถี่ (spectrum cap) ดูเหมาะสม เป็นธรรม และไม่เอื้อประโยชน์ต่อใครคนใดเป็นพิเศษหรือไม่ ในเมื่อมันมีความแตกต่างกันระหว่างเงื่อนไขของการประมูลความถี่ 1800 กับ 900 MHz เพราะจำนวนความถี่เป็นแต้มต่อสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมสื่อสารไร้สายที่สามารถตัดสินอนาคตแพ้ชนะกันได้
     
       โดยบอร์ด กทค.ได้กำหนดให้เปิดประมูลความถี่ 1800 MHz จำนวน 25 MHz ของบริษัท ทรูมูฟ และบริษัท ดิจิตอล โฟน (ดีพีซี) ที่หมดสัมปทานไปตั้งแต่เดือน ก.ย.ปีที่แล้วจำนวน 2 ใบอนุญาต (ไลเซนส์) แบ่งเป็นใบอนุญาตละ 12.5 MHz ทั้ง 2 ใบอนุญาตในช่วงกลางเดือน ส.ค. 2557 นี้ ซึ่งมีการกำหนด Spectrum Cap คือผู้ประกอบการหนึ่งรายสามารถถือครองได้เพียง 1 ใบอนุญาตเท่านั้น
     
       แต่ในขณะที่ความถี่ 900 MHz จำนวน 17.5 MHz ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 30 ก.ย. 2558 จะจัดให้มีการประมูลล่วงหน้าภายในเดือน พ.ย. 2557 จำนวน 2 ใบอนุญาตแบ่งออกเป็นความถี่จำนวน 10 MHz หนึ่งใบอนุญาต และอีก 7.5 MHz หนึ่งใบอนุญาต แต่กลับไม่มีการกำหนด Spectrum Cap ในการประมูลก ล่าวคือ ผู้ประกอบการหนึ่งรายสามารถถือครองได้ทั้ง 2 ใบอนุญาตที่เปิดประมูลนั่นเอง
     
       พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.ในฐานะประธาน กทค.ระบุว่า การกำหนดการถือครองคลื่นความถี่ในประเด็นข้างต้นนั้นไม่อยากให้เรียกว่าเป็นการกำหนด Spectrum Cap เนื่องจากการกำหนดดังกล่าวไม่ได้นับรวมการถือครองคลื่นความถี่ที่มีอยู่ในอดีต
     
       ดังนั้นการประมูล 4G ครั้งนี้จะไม่มีการกำหนด Spectrum Cap แต่จะเป็นการกำหนดให้ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมประมูลเฉพาะในครั้งนี้เท่านั้นว่าสามารถประมูลความถี่ได้รายละเท่าไร โดย กทค.กำหนดให้ความถี่ 1800 MHz ผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลประมูลได้เพียง 12.5 MHz เท่านั้น ส่วน 900 MHz ไม่ได้มีการกำหนดในครั้งนี้
     
       แต่สาเหตุที่กำหนดการถือครองความถี่ทั้ง 2 ช่วงไม่เหมือนกัน เนื่องจากในความถี่ 1800 MHz หากไม่มีการกำหนด และมีผู้ประกอบการหนึ่งรายสามารถประมูลได้ใบอนุญาตไปทั้ง 2 ใบอนุญาตจะส่งผลกระทบในการนำคลื่นดังกล่าวไปทำตลาดในอนาคต เนื่องจากทั้ง 2 ช่วงคลื่นความถี่คือ 12.5 MHz และ 12.5 MHz ที่นำมาประมูลนั้นไม่ได้ติดกัน โดยมีคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 50 MHz กั้นกลางอยู่ ซึ่งเป็นของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่ได้รับสัมปทานจากบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งจะหมดสัมปทานในปี 2561 โดย กทค.มีแผนจะนำมาเปิดประมูลในช่วงไตรมาส 3 ปี 2558 ต่อไป
     
       ที่สำคัญ สาเหตุที่ กทค.จัดสรรเพียงใบอนุญาตละ 12.5 MHz เนื่องจากความถี่ 1800 MHz ที่หมดสัมปทานลงแล้วมีจำนวนเพียง 25 MHz เท่านั้นในตอนนี้ จึงต้องการแบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต เพื่อเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในตลาด และเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะหากแบ่งเป็น 3 ใบอนุญาตก็อาจโดนเสียงครหาได้ว่าเป็นการแบ่งชิ้นเค้กให้ผู้ประกอบการเอกชนทั้ง 3 รายที่อยู่ในตลาดตอนนี้เหมือนตอนการประมูลความถี่ 2.1GHz หรือ 3G ที่ผ่านมา
     
       ส่วนอีก 50 MHz ของดีแทคปัจจุบันยังไม่หมดสัมปทานจึงยังไม่สามารถนำมาประมูลพร้อมกันในครั้งนี้ได้เพราะอาจเกิดปัญหากับเจ้าของสัมปทานในที่สุด
     
       ส่วนการที่ กทค.ตัดสินใจนำเอาความถี่ 1800 MHz ในส่วนของการ์ดแบนด์ (Guard Band) จำนวน 2.5 MHz มารวมเพื่อประมูลด้วย ทั้งที่ในตอนแรกมองว่าจะไม่ได้นำมารวมด้วยนั้น เนื่องจากปัจจุบันการทำ 4G LTE จำนวนความถี่เพียง 1.4 MHz ก็มีความหมายสามารถนำไปเปิดให้บริการได้เช่นเดียวกัน ต่างจากการประมูล 3G ในความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ต้องมีความถี่อย่างต่ำ 5 MHz ถึงจะนำมาเปิดให้บริการได้
     
       ขณะที่ความถี่ 900 MHz สาเหตุที่ต้องแบ่งจำนวนความถี่ออกเป็น 2 ใบอนุญาตคือจำนวน 10 MHz 1 ใบอนุญาต และ 7.5 MHz 1 ใบอนุญาต เนื่องจากมีความถี่ให้จัดสรรเพียง 17.5 MHz ส่วนการที่ไม่กำหนดเพดานการถือครองความถี่ที่จะประมูล เนื่องจาก กทค.ต้องการให้เกิดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม ซึ่งหากแบ่งความถี่น้อยเกินไปหรือมากกว่า 2 ใบอนุญาตอาจจะไม่เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ให้เกิดขึ้นในตลาด และอาจส่งผลทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำความถี่ที่ได้มาไปทำตลาดได้เพราะจำนวนความถี่ที่น้อยเกินไป
     
       ดังนั้นการแบ่งความถี่ออกเป็น 10 MHz และ 7.5 MHz ถือว่าเหมาะสมที่สุด เนื่องจากหากมีผู้ประกอบการรายใหม่ประมูลได้ 7.5 MHz ก็สามารถนำไปทำตลาด 3G ได้จำนวน 5 MHz
     
       “สาเหตุที่ไม่มีการกำหนดการถือครองความถี่ 900 MHz เนื่องจากจะเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายเล็ก หรือรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาประมูล รวมถึงมีอุปสรรคต่อการลงทุนเนื่องจากเป็นช่วงความถี่ที่ติดกัน หากได้เพียงใบอนุญาตเดียวอาจจะไม่สามารถทำตลาดได้เต็มศักยภาพเท่าที่ควร”
     
       อีกทั้ง กทค.ยังกำหนดการครอบคลุมของโครงข่ายของผู้ประกอบการที่จะต้องลงทุนโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของจำนวนประชากรภายใน 4 ปี ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเดิมหรือรายใหม่ทั้ง 2 ช่วงคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล ซึ่งเหตุที่กำหนดการขยายโครงข่ายน้อยกว่าตอนประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz หรือ 3G นั้นเนื่องจากคลื่นความถี่ 1800 MHz ส่วนใหญ่จะนำไปเปิดให้บริการเฉพาะในเมืองเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาส และส่งเสริมผู้ประกอบการรายเล็ก หรือรายใหม่ ให้สามารถเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมนี้ได้ด้วย
     
       ประเด็นสำคัญที่สุดคือความถี่ 900 MHz ที่มีจำนวน 17.5 MHz ไม่สามารถให้ประมูลเพียงใบอนุญาตเดียวได้ เพราะอาจทำให้ถูกมองได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ค่ายมือถือรายใหญ่เพียงรายเดียว รวมทั้งปริมาณความถี่ยังมากเกินไป การแบ่งความถี่ออกเป็น 2 ใบอนุญาตดูจะเหมาะสมมากที่สุด และยังเปิดทางผู้ประกอบการหน้าใหม่ในตลาดที่สนใจ หรือถ้าหากรายใหญ่ต้องการทั้ง 2 ใบอนุญาตก็ต้องแข่งราคากันเต็มที่ ซึ่งสุดท้ายรัฐและประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากการแข่งขันประมูลความถี่ครั้งนี้
     
       *** เอไอเอสจ่อประมูลใบอนุญาต 10 MHz
     
       วิเชียร เมฆตระการ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส กล่าวว่า หากพูดถึงการเข้าร่วมประมูลความถี่ทั้ง 2 ย่าน คือ 1800 MHz และ 900 MHz เอไอเอสคงเข้าประมูลทั้ง 2 ความถี่อยู่แล้วในฐานะผู้ประกอบการ ส่วนในประเด็นเรื่องการกำหนด Spectrum Cap ในความถี่ 900 MHz นั้น มองว่าจริงๆ แล้วจำนวนความถี่ที่นำมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต้องมีประมาณ 10 MHz ดังนั้น กทค.ควรจะเปิดประมูล 10 MHz ทั้ง 2 ใบอนุญาต แต่ในเมื่อมีแค่ 17.5 MHz ก็จะทำให้มีเศษที่เหลือ ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้อะไรได้มาก
     
       “เอไอเอสคงเลือกที่จะประมูลเต็มแบนด์ 10 MHz ไว้ก่อนอยู่แล้วเนื่องจากสามารถนำไปทำตลาดได้ดีกว่า และเต็มประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งหากนำไปทำ 3G ก็ได้ 2 ช่วง และทำ 4G ก็ได้หนึ่งช่วง ส่วน 7.5 MHz หากได้มาก็ดี แต่ถ้ามีผู้ประกอบการประมูลแข่งเยอะเอไอเอสอาจจะไม่เอาก็เป็นได้ ซึ่งคงต้องดูวันประมูลอีกครั้งในการตัดสินใจ”
     
       ส่วนความถี่ 1800 MHz ถึงแม้จะมีการ์ดแบนด์จำนวน 2.5 MHz อยู่ใน 2 ใบอนุญาตก็ตามแต่เอไอเอสคงจะเข้าไปประมูลก่อน เพื่อในอนาคตหาก กทค.มีการนำเอาความถี่จำนวน 50 MHz ของดีแทคมาประมูลจะได้นำมารวมกันหรือจัดสรรใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าในตอนนั้นจะแบ่งช่วงคลื่นเป็น 10 MHz 5 ใบก็เป็นไปได้ เพื่อง่ายต่อการนำไปให้บริการ
     
       ขณะที่ประเด็นเรื่องของราคาตั้งต้นการประมูลความถี่ 1800 MHz นั้น เอไอเอสมองว่าอาจจะไม่ใช่ราคาสุดท้ายเพราะยังจะต้องนำราคาดังกล่าวไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ก่อนจึงเร็วไปที่จะวิพากษ์วิจารณ์ราคาดังกล่าว แต่ไม่ว่าราคาจะออกมาอย่างไรก็ตาม แต่ในฝั่งผู้ประกอบการก็จะต้องเข้าร่วมการประมูลอยู่แล้ว ดังนั้นประเด็นราคาสูงเกินไปหรือราคาต่ำไปไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ แต่เท่าที่ดูราคา 4G ครั้งนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากราคา 3G แต่ที่ต่างอาจจะเป็นเรื่องของเงื่อนไขรายละเอียดอื่นๆ มากกว่า
     
       “สุดท้าย ราคาความถี่ 1800 MHz ที่ออกมาก็จะถือเป็นแนวทางในการคำนวณราคาความถี่ 1800 MHz ของดีแทคในอนาคตที่ กทค.จะนำมาเปิดประมูลจำนวนมากถึง 50 MHz ด้วยเช่นกัน”
     
       *** ดีแทคชี้ราคาตั้งต้น 1800 MHz สูงกว่าประเทศอื่น
     
       จอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า ราคาเริ่มต้นประมูล (reserve price) ความถี่ 1800 MHz ที่ 11,600 ล้านบาท ต่อหนึ่งใบอนุญาตที่มีจำนวน 12.5 MHz นั้น ในเบื้องต้นเมื่อเปรียบเทียบกับ International benchmark ที่ GSMA ทำข้อมูลไว้ จะพบว่าราคาเริ่มต้นประมูลของไทยมีราคาค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่น แต่ทั้งนี้ราคาประมูลดังกล่าวจะต้องนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นหลัก
     
       เนื่องจากความถี่ 1800 MHz ที่จะเปิดประมูลนั้น ทางผู้ประกอบการจะนำมาให้บริการดาต้าด้วยเทคโนโลยี 4G LTE ซึ่งผู้ประกอบการจะเลือกให้บริการเฉพาะในพื้นที่ที่มีการใช้งานดาต้าหนาแน่น เช่นใน กทม. หรือในเมืองใหญ่ จึงไม่ใช่ความถี่ที่นำมาให้บริการได้ในลักษณะเปิดให้บริการทั้งเสียง และดาต้าทั่วไปทุกพื้นที่อย่างความถี่ 2.1 GHz ทั้งนี้ ดีแทคมีความมุ่งหวังในการเข้าประมูลความถี่ และมีความพร้อมในการเข้าประมูลในครั้งนี้อย่างเต็มที่


http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9570000045721

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.