Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

20 กันยายน 2557 (บทความ) เอเชียนเกมส์ 2014 ความปรองดอง และทางลงของช่อง 3 - กสท // ชี้เป็นการทำตามกฏ MUST HAVE

ประเด็นหลัก


         หมากตัวที่ว่า ก็คือการแข่งขันเอเชียมเกมส์ 2014 ที่จะจัดขึ้นที่อินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 19 กันยายน – 4 ตุลาคม ซึ่ง กสท. มีมติอนุญาตให้ช่อง 3 อะนาล็อก ออกอากาศคู่ขนานกับช่องทีวีดิจิตอล ช่อง 33 HD ซึ่งถือเป็นการอนุญาตตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในการบริการที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 ที่กำหนดให้รายการทีวีสำคัญ ออกอากาศได้เฉพาะโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ฟรีทีวี) เท่านั้น ซึ่งบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือ เคเบิลทีวีอื่นๆ ก็จะดูได้ผ่านทางช่องฟรีทีวีเช่นกัน หรือ ที่เรียกว่า MUST HAVE ที่เราๆ ท่านๆ ได้ยินกันจนคุ้นหู แต่บางคนก็ฟังแบบไม่รู้ความหมาย และที่มาที่ไป


______________________________




เอเชียนเกมส์ 2014 ความปรองดอง และทางลงของช่อง 3 - กสท




ขณะที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าช่อง 3 อะนาล็อก จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร จะ “จอดำ” บนโครงข่ายดาวเทียม หรือจะเดินหน้าสู่การแพร่ภาพแบบ “คู่ขนาน” บนบรรทัดฐานเดียวกับช่อง 5 , 7 , 9 , NBT , TPBS แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้มี “หมาก” ตัวใหม่ ที่จะทำให้ทั้งช่อง 3 และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) สามารถ “ซื้อเวลา” ในการตอบคำถามมวลมหาประชาชน ที่รอคอยความชัดเจนอย่างใจจดใจจ่อออกไปได้อีก
       
        หมากตัวที่ว่า ก็คือการแข่งขันเอเชียมเกมส์ 2014 ที่จะจัดขึ้นที่อินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 19 กันยายน – 4 ตุลาคม ซึ่ง กสท. มีมติอนุญาตให้ช่อง 3 อะนาล็อก ออกอากาศคู่ขนานกับช่องทีวีดิจิตอล ช่อง 33 HD ซึ่งถือเป็นการอนุญาตตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในการบริการที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 ที่กำหนดให้รายการทีวีสำคัญ ออกอากาศได้เฉพาะโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ฟรีทีวี) เท่านั้น ซึ่งบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือ เคเบิลทีวีอื่นๆ ก็จะดูได้ผ่านทางช่องฟรีทีวีเช่นกัน หรือ ที่เรียกว่า MUST HAVE ที่เราๆ ท่านๆ ได้ยินกันจนคุ้นหู แต่บางคนก็ฟังแบบไม่รู้ความหมาย และที่มาที่ไป
        โดย พ.อ. นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และในฐานะประธาน กสท. ได้อธิบายเหตุแห่งมติดังกล่าวว่า เพื่อให้ประชาชน 30% ที่ใช้บริการระบบอะนาล็อกเข้าถึงการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้ด้วย
        นั่นหมายถึงว่าอย่างน้อยที่สุด ช่อง 3 อะนาล็อก ก็สามารถยืดอายุการแพร่ภาพต่อไปได้ จนกว่าจะสิ้นสุดการแข่งขัน ในวันที่ 4 ตุลาคม ซึ่งก็ถือว่าเป็นการวางแผนการหาทางออกที่สามารถลดกระแสความขัดแย้งของคนดูทั่วประเทศไปได้ระยะหนึ่ง ระหว่างที่ทุกอย่างยังคลุมเครือ
        มองกันแบบผิวๆ ก็ถือว่าเป็นมติที่ออกจะ win-win ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายช่อง 3 ฝ่าย กสท และฝ่ายผู้บริโภค ที่ยังคงรับชมการถ่ายทอดสดได้ทุกช่องทางตามปกติ ส่วนที่ว่าเป็นการถ่วงเวลา นั่นก็เพราะกีฬาเอเชียนเกมส์ ไม่ใช่ฟุตบอลโลก ที่คนดูจะต้องจดจ่อรอดูกันทุกหย่อมหญ้า มติดังกล่าวจึงอาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพียงข้ออ้าง ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหมากตัวหนึ่งเท่านั้น
        แต่หลังจากจบการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์แล้วต่างหาก ที่จะต้องมาจับตามองต่อไปว่า หมากต่อไปที่ช่อง 3 และ กสท จะนำมางัดข้อกันนั้นคืออะไร ?
        เรื่องที่ช่อง 3 ดื้อแพ่งไม่ยอมออกอากาศแบบ “คู่ขนาน” นั้น เห็นกันชัดๆ ว่าเป็นเรื่องของการที่จะต้องลดเวลาโฆษณาลงตามกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่อง 3 ยอมรับไม่ได้ที่จะต้องสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมหาศาล ส่วนเรื่องคนละนิติบุคคลเอย หรือเรื่องอะไรต่อมิอะไรเอย ก็เป็นเพียงแค่ข้ออ้าง ที่ทางช่อง 3 นำมาบิดเบือนข้อเท็จจริง
        ล่าสุดก็ยกปัญหาเรื่องสัมปทานซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก กล่าวคือทางช่อง 3 อะนาล็อกมีสัญญาสัปทานกับ อสมท อยู่แล้ว ซึ่งถ้าจะนำมาออกอากาศแบบ “คู่ขนาน” ก็เท่ากับว่าจะต้องจ่ายค่าประมูลคลื่นความถี่เพิ่มเข้าไปอีก จึงนำมาสู่เงื่อนไขที่ยกมาเสนอว่าให้หาช่องใหม่ให้ช่อง 3 ออกอากาศในระบบดิจิตอล หรือไม่ก็ให้เหลือค่าใช้จ่ายในช่องทางเดียว ซึ่’งเป็นประเด็นที่ กสทจะต้องนำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง
       
        ณ จุดนี้ขอพักวางเรื่องของช่อง 3 อะนาล็อกกับ กสท ไว้แค่นี้ก่อน ลองมาพิจารณากันต่อไปว่าเหตุไฉนทีวีดิจิตอลถึงไปไม่ถึงฝั่งฝันอย่างที่ทาง กสท วาดวิมานไว้
       
        งานนี้มองว่าเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ทำได้ยากยิ่ง ในที่นี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องของการเปลี่ยนผ่านระบบจากอะนาล็อกสู่ดิจิตอล ลำพังแค่จะเปลี่ยนให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาเสพความบันเทิงจากช่องอื่น ก็ยากแล้ว เพราะต้องไม่ลืมว่าแต่ไหนแต่ไรมา ทุกคนคุ้นชินกับการดูแต่ช่อง 3 กับช่อง 7 มาตลอดหลายปีดีดัก โดยเฉพาะเรื่องละคร ที่ทั้งคู่นั้นแข็งแรงสูสีกันมาก เรียกว่าผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่ 2 ช่อง อย่าว่าแต่ช่องดิจิตอลรายอื่นจะอาจหาญมาสู้เลย ขนาดโมเดิร์นไนน์ทีวีเอง ที่เคยจะรุกช่วงละครหลังข่าว เพื่อบี้กับเจ้าตลาดใหญ่อย่างช่อง 3 และช่อง 7 แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด แม้กระทั่งเอ็กแซ็กท์ที่เป็นแกนหลักในการผลิตละครป้อนช่อง 5 มาหลายปี ยังโบกมือลา เพราะทนต่อภาวะขาดทุนต่อเนื่องไม่ไหว จนต้องหนีไปพึ่งบารมีช่อง ONE ช่องดิจิตอลในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ เพราะอย่างน้อยที่สุด ต่อให้คนดูเท่าเดิม รายได้จากค่าโฆษณาเท่าเดิม แต่ก็ยังทุ่นเรื่องค่าใช้จ่ายลงไปได้เยอะ
       
        เพราะฉะนั้นแล้ว ช่องทีวีดิจิตอลที่ปาเข้าไปรวมเบ็ดเสร็จ 40 กว่าช่อง จะมีความหมายอะไร เพราะไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ก็ยังไม่เห็นทางที่จะดึงฐานผู้ชมให้แปรพักตร์จากช่อง 3 กับช่อง 7 ที่ครองใจมหาชนกันมาอย่างยาวนานนับครึ่งค่อนศตวรรษ
       
        ขณะเดียวกันเอเยนซีที่จะซื้อโฆษณา ก็ต้องมองช่อง 2 นี้เป็นตัวเลือกแรก กว่าที่เม็ดเงินจะกระจายสู่ช่องอื่นๆ นั้น ก็ยากเย็นเต็มที เมื่อโฆษณาไม่เข้า นั่นหมายถึงรายได้ไม่มากพอ การที่จะพยุงฐานะของช่องไว้ให้อยู่รอดปลอดภัย ก็คือหันกลับมาลดต้นทุนในการผลิต ทุกอย่างจึงดูเหมือนด้อยมาตรฐานตามๆ กันไป ประเด็นนี้ในส่วนของรายการอาจจะยังมองเห็นภาพไม่ชัด แต่ถ้าเป็นละคร ต้นทุนที่ต่างกัน โปรดักชันที่ต่างกัน ชื่อเสียงของดาราที่ต่างกัน ความน่าสนใจของละครก็ย่อต่างกันตามไปด้วย ขณะที่ช่อง 3 ช่อง 7 ต้นทุนสูง โปรดักชันหรูหราอลังการ ได้ดาราขั้นเทพ ระดับตัวพ่อ ตัวแม่ของวงการมาประชันกันล้นจอ แล้วช่องดิจิตอลรายอื่นจะเอาอะไรมาสู้
       
        การถือกำเนิดของช่องดิจิตอลในบ้านเรานั้น มุ่งเน้นไปที่ปริมาณช่อง จนมองข้ามมาตรฐานของรายการ , ละคร ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ
       
        ปัญหาของทีวีดิจิตอลในวันนี้ จึงไม่ใช่ประเด็นว่าช่อง 3 จะออกอากาศแบบ “คู่ขนาน” หรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่เจ้าของช่อง จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่หนักอึ้ง ประมาณการคร่าวๆ ว่าแต่ละช่อง จะต้องมีกำไรขั้นต่ำถึงปีละ 1,000 ล้านบาท จึงจะคุ้มทุน ขณะที่รายได้จากการขายโฆษณานั้น น้อยนิดและริบหรี่เหลือเกิน
       
        ที่สำคัญการจะเปลี่ยนผ่านระบบให้ได้สมบูรณ์แบบนั้น จะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป บางประเทศต้องใช้เวลากว่า 10 ปี กว่าที่การเปลี่ยนผ่านจะสัมฤทธิ์ผล
        แต่สำหรับบ้านเรานั้น เจ้าของช่องหลายๆ ช่อง อาจจะมีลมหายใจอยู่ไม่ถึง 10 ปี !!!
     
       ที่มา นิตยสารASTV สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 255 20-26 กันยายน 2557

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9570000107408

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.