Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

12 มกราคม 2558 ICT.พรชัย ระบุ ร่าง พรบ.กสทช. ใหม่ ยุบเหลือบอร์ดเดียว ให้สิทธิจัดสรรเฉพาะคลื่นพาณิชย์ โดยการจัดการคลื่นความถี่ต้องให้ กสทช. ทำงานประสานกับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ประเด็นหลัก



"การจัดการคลื่นความถี่ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล จึงต้องให้ กสทช. ทำงานประสานกับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีทั้งหมด คาดว่าไม่เกิน 3 เดือน จะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้"


_____________________________________________________













ชงบอร์ดดิจิทัลคุมแจกคลื่น บิวตี้คอนเทสต์แทนประมูล



เปิดร่าง พ.ร.บ.กสทช.ใหม่ ยุบเหลือบอร์ดเดียว ให้สิทธิจัดสรรเฉพาะคลื่นพาณิชย์ เปิดช่องบิวตี้คอนเทสต์ ริบเงิน 27,000 ล้านเข้ากองทุนดิจิทัล ฟากไอซีทีขีดเส้น 2 เดือนเคาะแบ่งคลื่นให้ภาครัฐใช้ เร่งตั้งบอร์ดดิจิทัลชั่วคราวภายในเดือนนี้

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 6 ม.ค. 2558 จึงได้เห็นชอบร่างกฎหมายเพิ่มเติมอีก 8 ฉบับ ที่สำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)

"การจัดการคลื่นความถี่ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล จึงต้องให้ กสทช. ทำงานประสานกับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีทั้งหมด คาดว่าไม่เกิน 3 เดือน จะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้"

โดยกฎหมายใหม่จะทำให้ กสทช. มีเพียงบอร์ดเดียวในการกำกับดูแลกิจการทั้ง 2 ด้าน

"เจตนารมณ์กฎหมายยังให้ กสทช. เป็นองค์กรอิสระ แต่คณะกรรมการดิจิทัลฯซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะกำหนดนโยบายการใช้คลื่น โดยแยกเป็นคลื่นเพื่อความมั่นคง บริการสาธารณะ กับด้านพาณิชย์ และให้ กสทช.จัดสรรให้ใบอนุญาตเฉพาะคลื่นด้านพาณิชย์ ด้วยวิธีการคัดเลือก ที่ กสทช.จะเป็นคนกำหนด ส่วนคลื่นด้านความมั่นคงและสาธารณะ บอร์ดดิจิทัลฯจะเป็นผู้จัดสรร"

โดยประธาน กสทช. ก็จะเป็นหนึ่งในกรรมการบอร์ดดิจิทัลแห่งชาติ ที่จะมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมฯ และหอการค้าฯ รวมทั้งหมด 32 คน

"ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าคลื่นไหนจะใช้เพื่อสาธารณะหรือพาณิชย์ จึงต้องดูภาพรวมทั้งกระดาน น่าจะใช้เวลาอีกราว 1-2 เดือนถึงจะเจรจาเสร็จ"

สาระสำคัญของร่างฉบับใหม่ คือ กสทช.ต้องทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ เสนอต่อบอร์ดดิจิทัลฯ ส่วนการจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม แผนเลขหมายโทรคมนาคม แผนความถี่วิทยุ ต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนการพัฒนาของบอร์ดดิจิทัลฯ ให้ใช้วิธีการคัดเลือกในการจัดสรรคลื่นความถี่แทนการประมูลโดยใช้หลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนด ส่วนเงินที่ได้จากจัดสรรคลื่นเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว 50% ให้นำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่จะจัดตั้งขึ้น และมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุน เงินที่เหลือนำส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นจาก กสทช.แล้ว จะต้องแจ้งไปยังบอร์ดดิจิทัล รวมถึงรายงานสรุปการลงทุนทรัพยากรที่ใช้ในการให้บริการในภาพรวม สำหรับใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์ระดับนโยบายของบอร์ดดิจิทัลต่อไป

ขณะที่รายได้ของสำนักงาน กสทช.ที่มาจากค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี เมื่อหักรายจ่ายในการดำเนินงานของ กสทช. ค่าภาระต่าง ๆ ที่จำเป็น เงินที่เหลือ 50% ให้นำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ นอกนั้นนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน พร้อมกับให้ยกเลิกกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และให้โอนเงินทั้งหมดที่มีราว 27,000 ล้านบาทเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลฯด้วย

รัฐมนตรีไอซีทีกล่าวว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะนำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการดิจิทัลชุดชั่วคราวเสนอให้ ครม.แต่งตั้งเพื่อให้เริ่มทำแผนปฏิบัติการและรายละเอียดโครงการต่าง ๆ รอไว้ก่อน ระหว่างรอให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีทั้งหมดประกาศใช้ อาทิ การตั้งคณะกรรมการชุดย่อย การวางโครงสร้างการทำงาน โครงการที่ต้องทำเร่งด่วน อาทิ โครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย



http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1421049123

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.