Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

12 มกราคม 2558 กสทช.ประวิทย์ ระบุ สาเหตุที่เอกชนเริ่มเพียง 1 โปรโมชั่น เนื่องจากเกรงสูญเสียรายได้จากการปัดเศษวินาทีเป็นนาทีแต่ละเดือนเฉลี่ย 4,000-5,000 ล้านบาท

ประเด็นหลัก


ด้าน "ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" กรรมการ กสทช.ด้านดูแลผู้บริโภคกล่าวว่า ผู้ให้บริการคิดค่าบริการแบบวินาทีได้ทั้งระบบ และทำได้ภายในไม่เกิน 2 เดือน แต่สาเหตุที่เอกชนเริ่มเพียง 1 โปรโมชั่น เนื่องจากเกรงสูญเสียรายได้จากการปัดเศษวินาทีเป็นนาทีแต่ละเดือนเฉลี่ย 4,000-5,000 ล้านบาท หรือ 4-5 หมื่นล้านต่อปี จากหมายเลขที่เปิดใช้ 100 ล้านหมายเลข จึงเห็นว่าสำนักงาน กสทช.ควรเดินหน้าต่อในการทำให้ได้ทั้งระบบตามที่ สปช.เสนอมา ไม่ใช่แค่โปรโมชั่นเดียว



_____________________________________________________
















คิกออฟคิดค่าโทรเป็น "วินาที" ค่ายมือถือจัดให้ชอตแรกแค่โปรโมชั่น



การคิดค่าบริการโทรศัพท์มือถือกลายเป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูปด้วยเช่นกัน โดยการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2557 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบกับรายงานการศึกษาเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง โดยคิดเป็นวินาทีของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค

งานนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รับลูกทันควัน โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดีถ้าทำได้น่าจะเป็นผลดีกับประชาชนผู้ใช้บริการที่มีเกินจำนวนประชากรในประเทศไปไกลแล้ว หากนับจำนวนเลขหมายที่มีการใช้งานด้วยว่าทะลุ 100 ล้านเลขหมายไปแล้วเรียบร้อย

โดยเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ได้ส่งเทียบเชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 5 ราย ได้แก่ เอไอเอส, ดีแทค, ทรูมูฟ เอช, ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม มาหารือเรื่องการปรับโครงสร้างการคิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาทีตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

"พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" กรรมการ กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการ และความเป็นไปได้ในการปรับวิธีการคิดค่าบริการเป็นวินาที ทั้งเรื่องต้นทุนดำเนินการของเอกชน เงื่อนไขทางกฎหมาย และในเชิงเทคนิค ซึ่งตั้งแต่ กสทช.ได้รับการประสานงานจาก สปช.ได้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่ด้วยโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการของผู้ให้บริการแต่ละรายมีความแตกต่างกัน จึงอาจทำไม่ได้ในทันที ต้องดูข้อเท็จจริงทางเทคนิคด้วย ต่างจากในประเทศแถบยุโรปที่ทำได้ เพราะมีการพัฒนาโครงสร้างโทรคมนาคมแล้ว ขณะที่ประเทศไทยมีหลากหลายเทคโนโลยีทั้ง 2G, 3G แบบเก่าและแบบใหม่

ด้าน "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการ กสทช.เสริมว่า การคิดค่าบริการเดิมเป็นนาที และปัดเศษนาทีเป็น 1 นาทีเต็ม ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบเมื่อใช้งานไม่ถึงระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจากการหารือกับผู้ให้บริการทั้ง 5 ราย พร้อมให้ความร่วมมือ โดยในเบื้องต้นจะใช้วิธีเพิ่ม "โปรโมชั่นใหม่" ที่เก็บค่าบริการเป็นวินาที เพราะเป็นมาตรการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วที่สุด โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการศึกษาและจัดทำโปรโมชั่นใหม่นี้ภายในวันที่ 1 มี.ค.นี้

ส่วนโปรโมชั่นเดิมให้ผู้ให้บริการไปจัดทำระบบ และกระบวนการในการดำเนินการให้สอดคล้องกับการคิดค่าบริการตามความเป็นจริง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจ่ายเงินประมาณ 6 เดือน-1 ปี เนื่องจากต้องศึกษาทั้งในเชิงเทคนิคและระบบที่แต่เดิมคิดค่าบริการแบบรายนาทีที่ต้องเปลี่ยนเป็นรายวินาที

"หลังมีการใช้โปรโมชั่นใหม่แล้ว จะให้ผู้ให้บริการแต่ละค่ายจัดทำเว็บไซต์สำรวจการใช้โปรโมชั่นใหม่ และประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนเป็นโปรโมชั่นใหม่นี้ต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย ผู้ให้บริการทั้ง 5 รายต้องไปศึกษาวิธีการทางเทคนิคและการคิดโปรโมชั่นต่าง ๆ รวมทั้งโครงสร้างการจ่ายเงินที่จะเปลี่ยนรูปแบบจากนาทีเป็นวินาทีด้วย แต่ยืนยันว่าภายใน 1 มี.ค.นี้ จะมีโปรโมชั่นใหม่ที่คิดเป็นวินาทีออกมาให้ใช้โดยไม่เสียค่าเปลี่ยนโปรโมชั่นแน่นอน"

ในมุมของเอกชน "นฤพนธ์ รัตนสมาหาร" ผู้อำนวยการอาวุโส สายรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการคิดค่าบริการตามความเป็นจริง เป็นรายวินาทีอาจทำให้มีต้นทุนในการเปลี่ยนแปลงระบบ โดยเทคนิคทำได้แต่ต้องใช้เวลา ทั้งการปรับโครงสร้างการคิดเงิน และระบบ CDR (Core Detail Record) ที่ใช้เก็บข้อมูล เป็นต้น ซึ่งเดิมดีแทคเคยใช้การคิดค่าบริการเป็นวินาทีเป็นจุดขาย แต่ไม่ได้รับผลตอบรับทางการตลาดที่ดี จึงกลับมาคิดเป็นรายนาทีเหมือนเดิม

ขณะที่ตัวแทนผู้ให้บริการรายอื่นพูดคล้ายกันว่า สามารถดำเนินการได้และพร้อมให้ความร่วมมือกับ กสทช. แต่ขอเวลาดำเนินการ เนื่องจากต้องศึกษาข้อมูลทั้งโปรโมชั่นแบบเก่า และการปรับระบบเทคนิค รวมทั้งปัญหาบิลลิ่ง

ด้าน "ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" กรรมการ กสทช.ด้านดูแลผู้บริโภคกล่าวว่า ผู้ให้บริการคิดค่าบริการแบบวินาทีได้ทั้งระบบ และทำได้ภายในไม่เกิน 2 เดือน แต่สาเหตุที่เอกชนเริ่มเพียง 1 โปรโมชั่น เนื่องจากเกรงสูญเสียรายได้จากการปัดเศษวินาทีเป็นนาทีแต่ละเดือนเฉลี่ย 4,000-5,000 ล้านบาท หรือ 4-5 หมื่นล้านต่อปี จากหมายเลขที่เปิดใช้ 100 ล้านหมายเลข จึงเห็นว่าสำนักงาน กสทช.ควรเดินหน้าต่อในการทำให้ได้ทั้งระบบตามที่ สปช.เสนอมา ไม่ใช่แค่โปรโมชั่นเดียว



http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1421049646

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.