Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

14 มีนาคม 2559 ที่ประชุมยังมีมติในการวางกรอบการยุติทีวีแอนะล็อก โดยให้ทุกช่องยกเลิกแอนะล็อกในปี 2561 ยกเว้นช่องที่ได้รับสัมปทานอย่าง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และ ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ยังได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่

ประเด็นหลัก


นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติในการวางกรอบการยุติทีวีแอนะล็อก โดยให้ทุกช่องยกเลิกแอนะล็อกในปี 2561 ยกเว้นช่องที่ได้รับสัมปทานอย่าง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และ ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ยังได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่ พร้อมกันนี้ที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติมอบให้ทางบอร์ด กสท. พิจารณาข้อร้องเรียนของ “ไทยรัฐทีวี” ที่ยื่นขอให้บอร์ดพิจารณาลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของผู้ประกอบการจากเดิมที่กำหนดไว้ร้อยละ 2 ของรายได้


_________________________






กฎหมายมัดตัว "กสทช." ไม่อนุมัติขยายเวลา-คืนไลเซนส์ทีวีดิจิทัล



ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2559 มีการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาข้อเสนอของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่เรียกร้องมาทั้ง 10 ประเด็น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช. นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาข้อเสนอของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 10 ข้อ ดังนี้

1. แนวทางการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิทัลด้วยการแจกคูปองส่วนลดให้ครบ 22.9 ล้านครัวเรือน บอร์ดได้รับทราบและขณะนี้ได้ทำเรื่องเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

2. การเลื่อนชำระการจ่ายเงินค่าประมูลในงวดที่ 3 บอร์ด กสทช. มีความเห็นว่า ประกาศของ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ ข้อ 10 กำหนดเงื่อนไขการชำระเงินไว้อย่างชัดเจนว่าต้องจ่ายเป็นรายงวดตามระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ชำระจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม แต่ไม่ได้เปิดช่องให้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขได้ ยกเว้นแต่จะมีการแก้ไขประกาศ ซึ่งก่อนนี้ กสทช. เคยหารือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ทางสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เคยมีหนังสือตอบกลับมาแล้วว่า การปรับเปลี่ยนประกาศจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางราย ประกอบกับเคยมีมติบอร์ด กสทช. เมื่อครั้งที่ถึงกำหนดการชำระเงินงวดที่ 2 เมื่อปี 2558 แล้วว่าไม่สามารถเลื่อนได้ บอร์ดครั้งนี้จึงให้ยืนตามมติเดิม แต่หากมีผู้ประกอบการรายใดไม่ชำระหรือขอเลื่อนก็สามารถดำเนินการได้โดยเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม 7.5% ส่วนจะมีการพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตหรือไม่ ให้บอร์ด กสทช. พิจารณาตามพฤติกรรมเฉพาะรายต่อไป เพื่อเป็นการผ่อนผันให้ทุกรายสามารถเดินหน้าต่อไป

3. การขอขยายเวลาใบอนุญาต หรือ ให้เริ่มนับเวลาของใบอนุญาตเมื่อมีการขยายโครงข่ายทีวีดิจิทัลครอบคลุมแล้ว บอร์ด กสทช. มีมติว่า เมื่อพิจารณาตามมาตรา 18 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ประกอบกับประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูล ซึ่งกำหนดอายุใบอนุญาตไว้สูงสุด 15 ปี จึงไม่อาจขยายเวลาให้มากกว่าที่กำหนดไว้ได้อีก ประกอบกับมีการกำหนดให้ต้องออกใบอนุญาตภายใน 30 วัน นับจากวันชำระเงินประมูล เมื่อประกาศกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดใบอนุญาตไว้แล้ว จึงไม่มีฐานอำนาจใดที่จะให้ กสทช. เปลี่ยนการนับเวลาใบอนุญาตเป็นอย่างอื่นได้

4. ขอคืนใบอนุญาตก่อนกำหนดโดยไม่ต้องชำระเงินค่าประมูลในงวดที่เหลือ ที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีมติว่า มาตรา 42 พ.ร.บ. กสทช. กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องชำระค่าประมูลทั้งหมด การกำหนดเงื่อนไขการประมูลตามประกาศหลักเกณฑ์การประมูลเป็นเพียงการผ่อนผันเท่านั้น หาก กสทช. เห็นชอบให้ผู้ขอคืนใบอนุญาตได้โดยไม่ชำระเงินประมูลที่เหลือจึงขัดกับกฎหมาย แต่ในที่ประชุมมีแนวคิดจะให้มีการเสนอปรับปรุงกฎหมายให้ใบอนุญาตโอนเปลี่ยนมือได้ โดยจะต้องเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

5. การบังคับให้ใช้ประกาศเรียงช่องอย่างเคร่งครัด ที่ประชุม กสทช. มีมติให้สำนักงาน กสทช. ไปดำเนินการบังคับใช้ประกาศ กสทช. อย่างเคร่งครัดและเพิ่มบทลงโทษทางปกครองเพิ่มหากมีรายใดไม่ปฏิบัติตาม

6. เร่งรัดการประชาสัมพันธ์ทีวีดิจิทัลให้เพิ่มขึ้น ทางสำนักงาน กสทช. ได้ชี้แจงว่า ได้พยายามเร่งรัดแล้ว แต่ผู้ชนะการประมูลขาดคุณสมบัติ ขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการจัดจ้างใหม่อีกครั้งคาดว่าอีกไม่เกิน 45 วัน น่าจะได้ผู้ชนะการประมูลที่จะเข้ามาดำเนินการประชาสัมพันธ์ทีวีดิจิทัล

7. การใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนาของ กสทช. เพื่อจัดทำระบบสำรวจความนิยมการรับชมโทรทัศน์(เรตติ้ง) ที่ประชุม กสทช. มีมติว่า ขอให้ทางสมาพันธ์หรือกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่มีการจัดตั้งรวมตัวเป็นสมาพันธ์หรือสมาคมผู้ประกอบการ ที่ต้องการจะทำโครงการสำรวจเรตติ้ง ให้ทำเรื่องขอทบทวนและแสดงวัตถุประสงค์ในการขอรับการสนับสนุนที่มีความชัดเจนว่า เป็นโครงการที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เพื่อให้กองทุน กสทช. พิจารณาทบทวนการสนับสนุนโครงการนี้ต่อไป

8. การขอลดค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล มติที่ประชุม กสทช. ได้มอบนโยบายให้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.) พิจารณาเรื่องนี้เพื่อลดภาระผู้ประกอบการ

9.การขอลดเงินสมทบเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนา ของ กสทช. ที่ตาม พ.ร.บ. กสทช. กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ และให้เก็บย้อนหลังได้ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ชี้แจงว่า กำลังทบทวนร่างประกาศใหม่ อยู่ระหว่างจะนำเสนอบอร์ด กสท. และ กสทช. โดยจะมีการจัดเก็บเป็นขั้นบันได ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.1 – 2 ของรายได้ และไม่มีการเก็บย้อนหลัง

10. การขอยกเลิกกฎมัสต์แคร์รี่ ที่ประชุม กสทช. มีมติว่า กฎมัสต์แคร์รี่ ที่เป็นการบังคับให้นำช่องทีวีดิจิทัลไปเผยแพร่ในทุกแพลตฟอร์ม เป็นการประกาศใช้ก่อนที่จะมีการประมูลช่องทีวีดิจิทัล ผู้รับใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัลจึงมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่เมื่อมีการขยายโครงข่ายทีวีดิจิทัลครอบคลุมทั่วประเทศถึงร้อยละ 95 แล้วจะมีการทบทวนแก้ไขประกาศ โดยมีแนวทาง 1 ยกเลิกกฎมัสต์แคร์รี่ หรือ 2 จะให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายแทน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติในการวางกรอบการยุติทีวีแอนะล็อก โดยให้ทุกช่องยกเลิกแอนะล็อกในปี 2561 ยกเว้นช่องที่ได้รับสัมปทานอย่าง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และ ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ยังได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่ พร้อมกันนี้ที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติมอบให้ทางบอร์ด กสท. พิจารณาข้อร้องเรียนของ “ไทยรัฐทีวี” ที่ยื่นขอให้บอร์ดพิจารณาลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของผู้ประกอบการจากเดิมที่กำหนดไว้ร้อยละ 2 ของรายได้

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1457516397

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.