Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

22 พฤษภาคม 2559 (บทความ) อีคอมเมิร์ซโตสะพรั่ง แบรนด์นอกแห่ชิง // "เซ็นทรัล ออนไลน์" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2558 ที่ผ่านมาได้ใช้งบฯการทำตลาดและโปรโมชั่นถึง 100 ล้านบาท และกลางปีนี้มีแผนจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นรูปแบบของมาร์เก็ตเพลส

ประเด็นหลัก




สำหรับ "เซ็นทรัล ออนไลน์" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2558 ที่ผ่านมาได้ใช้งบฯการทำตลาดและโปรโมชั่นถึง 100 ล้านบาท และกลางปีนี้มีแผนจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นรูปแบบของมาร์เก็ตเพลส เปิดให้แบรนด์สินค้าเข้ามาเช่าพื้นที่ขายออนไลน์ ทั้งนี้เดือนเมษายนที่ผ่านมา บอร์ดบริหารกลุ่มเซ็นทรัลได้แต่งตั้ง นายธรรม์ จิราธิวัฒน์ ลูกชายนายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ขึ้นแท่นนั่งบริหารธุรกิจออนไลน์ภายใต้ชื่อ Central Online สอดคล้องกับกระแสข่าวจากต่างประเทศที่ระบุว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าซื้อกิจการ "ซาโลร่า"

โดยแหล่งข่าววงการค้าปลีกมองว่า จุดแข็งของเซ็นทรัลที่มีแบรนด์และสินค้ามากที่สุด รวมถึงฐานลูกค้าทั่วประเทศมากกว่า 12 ล้านคน ขณะเดียวกับที่ซาโลร่าเป็นเว็บไซต์ขายสินค้าแฟชั่นที่สร้างแบรนด์จนติดตลาดและมีฐานลูกค้าจำนวนมาก เซ็นทรัลจึงสามารถต่อยอดได้ทั้งช่องทางขายสินค้าแฟชั่นบนอินเทอร์เน็ตและฐานลูกค้า


"การเข้าซื้อกิจการจะได้โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อะแวร์เนส พนักงาน เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น ฐานผู้ค้าและลูกค้า รวมถึงข้อมูลการใช้งานต่าง ๆ จึงช่วยลดเวลาและงบประมาณได้มาก"








_____________________________




อีคอมเมิร์ซโตสะพรั่ง แบรนด์นอกแห่ชิง


สมรภูมิอีคอมเมิร์ซ 2 ล้านล้านเดือด เซ็นทรัลรุกซื้อซาโลร่าขายแฟชั่นออนไลน์ รายเดิมซุ่มตั้งรับอาลีบาบาตลาดดอทคอมรุกสื่อโซเชียล เพิ่มดีลพิเศษเจาะลูกค้ารายบุคคล ซีพี ออลล์ ชูจุดแข็งเครือข่ายร้าน 7-11 ลาซาด้าลุยอัพเกรดหลังบ้าน พัฒนาระบบแจ้งเตือนสต๊อก

สมรภูมิค้าปลีกออนไลน์ในไทยขณะนี้คึกคักอย่างมาก จากความเคลื่อนไหวการ "ซื้อขายกิจการ" ของผู้เล่นรายใหญ่ แค่เดือนเมษายน 2559 เดือนเดียว ที่มีการประกาศซื้อกิจการลาซาด้า อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในอาเซียนของอาลีบาบา เว็บไซต์ซื้อขายสินค้าออนไลน์รายใหญ่จากจีน เพื่อรุกขยายตลาดในอาเซียน กับกระแสข่าวกลุ่มเซ็นทรัลเข้าซื้อกิจการเว็บไซต์ซาโลร่า ทำให้เห็นภาพการขยับตัวรับมือคู่แข่ง และการแข่งขันที่จะดุเดือดขึ้น รวมทั้งตลาดอีคอมเมิร์ซจะขยายตัวมากขึ้นด้วยโดยมีตัวแปรสำคัญจากเทคโนโลยี 4 จีการเข้าถึงไฮสปีดอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้น มือถือสมาร์ทโฟนราคาถูกลง และคนไทยใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2557 พบว่ามีมากกว่า 2.03 ล้านล้านบาท ขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุตัวเลข ณ เดือนมกราคม 2559 มีร้านค้าออนไลน์จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 16,655 เว็บไซต์ เพิ่มขึ้น 372 เว็บไซต์



นายสรรเสริญ สมัยสุต หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ บริษัท แอสเซนด์กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ iTruemart และ WeLoveShoppingเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผู้เล่นรายใหญ่ในต่างประเทศมองว่า อาเซียนเป็นตลาดที่น่าสนใจเข้ามาลงทุน เนื่องจากผู้เล่นอินเทอร์เน็ตเติบโตก้าวกระโดด จากโครงสร้างพื้นฐานประเทศทั้งความเร็วของอินเทอร์เน็ต ระบบการจ่ายเงิน หรืออีเพย์เมนต์ โลจิสติกส์ แต่การแข่งขันยังไม่รุนแรง ถ้าเทียบกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก ยังมีช่องว่างเติบโตอีกมาก พิจารณาจากยอดขายอีคอมเมิร์ซในอาเซียนมีสัดส่วนเพียง 1% ของมูลค่าค้าปลีก ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐ ยุโรป และในเอเชีย มีมูลค่าสูงถึง 10% ของค้าปลีก

"การเข้ามาของอาลีบาบาเป็นภาพชัดเจนว่า ยักษ์ใหญ่ระดับโลกให้ความสำคัญกับอาเซียน โดยเลือกใช้ วิธีการเข้าซื้อกิจการ เพื่อให้ขยายธุรกิจได้รวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีบริษัทระดับโลกอีกหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ธุรกิจที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตก็จะโตตามไปด้วย"

แต่การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับโลกจะทำให้การแข่งขันสูงขึ้น โดยเฉพาะการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าจากจีน ผู้ให้บริการรายใหญ่ในประเทศจึงต้องปรับตัวอย่างมาก การมีโพซิชันนิ่งที่ชัดเจน การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่น่าเชื่อถือของลูกค้า คัดสรรสินค้า โดยอาศัยความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่น และดำเนินธุรกิจให้บริการครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจึงจำเป็นมากขึ้น รวมทั้งมองโอกาสการขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย

สอดคล้องกับความเห็นของนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เว็บไซต์ตลาดดอตคอมที่ระบุว่า การเข้ามาของอาลีบาบาที่มีความแข็งแกร่งทั้งเงินทุนและต้นทุนสินค้า จะทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการและแบรนด์สินค้าต้องรับมือด้วยการหาจุดขายใหม่ ๆ รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์ม อัพเกรดระบบหลังบ้านให้ใช้งานง่ายขึ้น ขณะเดียวกันน่าจะเห็นผู้ประกอบการบิ๊กเนมทยอยเข้ามาในไทยและอาเซียนมากขึ้น

"ไทยและมาเลเซียเป็นตลาดหลักในภูมิภาค เวียดนามก็กำลังมาแรง สำหรับไทยนั้นมีศักยภาพสูงจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น และตลาดอีคอมเมิร์ซยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ยังไม่มีเจ้าตลาดชัดเจน จึงมีช่องว่างให้สอดแทรกเข้ามา"

สำหรับ "ตลาดดอตคอม" เน้นขยายแพลตฟอร์มซื้อขายเข้าไปตามสื่อโซเชียลขยายฐานสินค้าแฟชั่น และเน้นสร้างความแตกต่าง และทำการตลาดเฉพาะกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น โดยจะนำเสนอดีลพิเศษไปยังลูกค้าตามความสนใจของแต่ละราย คาดว่าจะช่วยเสริมจุดแข็งของโมเดลมาร์เก็ตเพลส ขยายฐานผู้ค้าและลูกค้าใหม่ ๆ สร้างวาไรตี้ของสินค้า และรับมือคู่แข่ง

ด้านนายธรินทร์ ธนียวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท ลาซาด้าจำกัด กล่าวว่า บริษัทอัพเกรดระบบหลังบ้านต่อเนื่อง ล่าสุดได้พัฒนาฟังก์ชั่นการแจ้งเตือนสต๊อกสินค้าคงเหลือ วางแผนนโยบายเก็บสินค้าในโกดังกลาง สนับสนุนโนว์ฮาวให้ผู้ขายรายเดิมและรายใหม่ รวมถึงเพิ่มความคล่องตัวในการจัดส่งสินค้า

ส่วนเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์เครือซีพี ออลล์ นายอำพา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด กล่าวว่า จะใช้ข้อได้เปรียบของช่องทางร้าน 7-11 ที่มีกว่า 8,500 สาขา สนับสนุนผู้ขาย อาทิ ทดลองวางสินค้าบางสาขา เพื่อเก็บข้อมูลและเข้าถึงพฤติกรรมลูกค้า รวมทั้งเป็นช่องทางโฆษณาประหยัดต้นทุนการทำตลาดได้

ด้าน "เอ็นโซโก" นางสาวจุฑารัตน์ พิบูลธรรมศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นโซโก้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จะเดินหน้าต่อยอดโมเดลมาร์เก็ตเพลส เน้นอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้ผู้ค้า พร้อมอัพเกรดระบบค้นหาสินค้าให้แม่นยำ ปรับดีลและโปรโมชั่นให้เข้ากับเทศกาลและเทรนด์ของตลาด โดยเฉพาะกลุ่มแฟชั่น สุขภาพและความงาม เพื่อกระตุ้นยอดขาย

ส่วนนายธีรพงษ์ วิชญเรืองรมย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย บริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเตรียมจะเปิดระบบชำระเงิน 2 ชั้นในแพลต์ฟอร์ม "วีเลิฟช้อปปิ้ง" โดยจะเป็นคนกลางเก็บเงินค่าสินค้าไว้จนกว่าผู้ซื้อจะยืนยันว่าได้รับสินค้าจึงโอนเงินไปยังผู้ขาย ส่วนแพลตฟอร์ม "ไอทรูมาร์ท" จะเปิดระบบผ่อนชำระ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ

สำหรับ "เซ็นทรัล ออนไลน์" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2558 ที่ผ่านมาได้ใช้งบฯการทำตลาดและโปรโมชั่นถึง 100 ล้านบาท และกลางปีนี้มีแผนจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นรูปแบบของมาร์เก็ตเพลส เปิดให้แบรนด์สินค้าเข้ามาเช่าพื้นที่ขายออนไลน์ ทั้งนี้เดือนเมษายนที่ผ่านมา บอร์ดบริหารกลุ่มเซ็นทรัลได้แต่งตั้ง นายธรรม์ จิราธิวัฒน์ ลูกชายนายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ขึ้นแท่นนั่งบริหารธุรกิจออนไลน์ภายใต้ชื่อ Central Online สอดคล้องกับกระแสข่าวจากต่างประเทศที่ระบุว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าซื้อกิจการ "ซาโลร่า"

โดยแหล่งข่าววงการค้าปลีกมองว่า จุดแข็งของเซ็นทรัลที่มีแบรนด์และสินค้ามากที่สุด รวมถึงฐานลูกค้าทั่วประเทศมากกว่า 12 ล้านคน ขณะเดียวกับที่ซาโลร่าเป็นเว็บไซต์ขายสินค้าแฟชั่นที่สร้างแบรนด์จนติดตลาดและมีฐานลูกค้าจำนวนมาก เซ็นทรัลจึงสามารถต่อยอดได้ทั้งช่องทางขายสินค้าแฟชั่นบนอินเทอร์เน็ตและฐานลูกค้า

"การเข้าซื้อกิจการจะได้โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อะแวร์เนส พนักงาน เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น ฐานผู้ค้าและลูกค้า รวมถึงข้อมูลการใช้งานต่าง ๆ จึงช่วยลดเวลาและงบประมาณได้มาก"

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1462034676

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.