21 พฤศจิกายน 2559 (บทความ) รายงาน "สตง." สับเละ "กสทช." ซ้ำซากใช้จ่ายไม่มีประสิทธิภาพ (1) // ขึ้นเงินคูปองทีวีดิจิทัลพบพิรุธ มีเอกสารไม่ครบตามข้อกำหนดเดิมที่วางไว้ด้วยต้องการให้เอกชนได้รับเงินเร็วขึ้น
ประเด็นหลัก
_____________________________________________________________________
รายงาน "สตง." สับเละ "กสทช." ซ้ำซากใช้จ่ายไม่มีประสิทธิภาพ (1)
ขึ้นเงินคูปองทีวีดิจิทัลพบพิรุธ
ขณะที่โครงการสำคัญอย่าง การแจกคูปองส่วนลด 690 บาท เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลให้ประชาชนนั้น สตง. พบปัญหาหลายประเด็น อาทิ การขาดการประชาสัมพันธ์ไปถึงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ประชาชนถูกหลอกลวงและมีปัญหาการเรียกเก็บสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านจากผู้นำชุมชนที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการมีเอกสารไม่ครบตามข้อกำหนดเดิมที่วางไว้ด้วยต้องการให้เอกชนได้รับเงินเร็วขึ้น แต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยง และยิ่งส่งเสริมให้มีการเรียกเก็บสำเนาเอกสารของผู้นำชุมชน เพราะไม่ต้องมีการรับรองสำเนา
จากการลงพื้นที่ของ สตง.พบว่า มีกรณีที่ร้านค้าตัวแทนของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการตามที่มีการอ้างการเบิกจ่าย เป็นเพียงร้านรับถ่ายเอกสารและไม่มีกล่องทีวีดิจิทัลวางจำหน่าย ทั้งเจ้าของร้านยังยืนยันว่าไม่ได้เป็นร้านค้าตัวแทน ไม่ได้เป็นจุดรับแลกกล่อง แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลในระบบบริหารจัดการโครงการของ กสทช.กลับพบว่า ร้านค้าดังกล่าวมีสถิติรับแลกคูปองสูงผิดปกติ เฉลี่ยถึงวันละ 1,500 กล่อง เป็นเหตุให้น่าเชื่อว่า มีการแอบอ้างชื่อร้านค้าแห่งนี้เข้าร่วมโครงการ
และยังมีการแจกคูปองส่วนลดในพื้นที่ที่สัญญาณยังไม่ครอบคลุมโดยหลายพื้นที่ตามแผนการขยายโครงข่ายยังต้องใช้เวลาอีกระยะจึงมีประชาชนส่วนหนึ่งที่รู้ว่าอยู่ในจุดอับสัญญาณไม่ใช้สิทธิ์ แต่ก็ยังมีกลุ่มที่ไม่รับทราบแล้วนำคูปองไปใช้สิทธิ์แต่กลับรับชมไม่ได้ ทำให้เกิดการสูญเสียเงินจำนวนมากโดยประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้การดำเนินงานมีปัญหาอย่างมาก เนื่องจาก กสทช.ขาดข้อมูลที่จะใช้ในการตัดสินใจอย่างรอบด้าน การแก้ปัญหาจึงเป็นการแก้ปัญหารายวันไปเรื่อย ๆ ไร้ทิศทางในการดำเนินการและไร้แผนงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ตุลาคม 2560 "กสทช." หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ชุดแรกจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังสะสางไม่ได้คือ "การใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ"
ในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งที่มีเงินรายได้แต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาลและเป็นอิสระในการตั้งงบประมาณเบิกจ่ายโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน แม้ที่ผ่านมาทั้งเลขาธิการ กสทช. "ฐากร ตัณฑสิทธิ์" จะออกมายืนยันว่า พยายามปรับปรุงและเข้มงวดในการใช้จ่ายมากขึ้น หลังมีการเปิดเผยรายงานการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด ในรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของ กสทช. สำหรับปี 2557 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดที่ สตง. สรุปรายงานออกมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 ยังคงให้ความเห็นว่าใช้จ่ายไม่มีประสิทธิภาพ และควรมีการทบทวนการทำหน้าที่ของ กสทช. ในหลายประเด็น
กันงบฯเหลื่อมปีเลี่ยงส่งเข้าคลัง
โดยในปี 2557 สำนักงาน กสทช. มีรายได้ 19,895.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8,237.17 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายปี 2557 จำนวน 5,474.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,151.16 ล้านบาท แต่มีการเบิกจ่ายได้จริงเพียง 55.36%
ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี แสดงให้เห็นว่าไม่มีการพิจารณาศักยภาพที่จะสามารถดำเนินการได้ แม้จะมีการทำแผนปฏิบัติการประจำปีไว้ แต่พบว่ายังไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ โดยแผนการประชาสัมพันธ์ยังคงขาดความชัดเจนและยังคงกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษเป็นจำนวนมาก
ขณะที่แผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีพบว่ายังมีการจัดซื้อจัดจ้างนอกแผนจำนวนมากโดยเฉพาะในเดือนธ.ค.มีการรีบเร่งทำสัญญาด้วยวิธีการพิเศษและตกลงราคาเพื่อกันงบประมาณไว้ในปีถัดไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดความโปร่งใส ขาดวินัยทางการงบประมาณและการคลังที่ดี ประกอบกับ กสทช.มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบการมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลไม่เหมาะสมกับการดำเนินงานของ กสทช. อีกต่อไป
ขณะที่งบประมาณสำหรับบริหารโครงการรวม 1,734.78 ล้านบาท สำหรับ 208 โครงการเมื่อตรวจสอบประสิทธิภาพพบว่า มีการกันงบประมาณเหลื่อมปีถึง 55.66% แสดงให้เห็นว่าเป็นการตั้งงบประมาณโดยไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพในการดำเนินการและไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ที่แท้จริงและยังคงมีเจตนาจะจัดสรรงบประมาณแบบสมดุลเพื่อไม่ให้มีเงินคงเหลือส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินทำให้ในช่วงปลายปีโดยเฉพาะพ.ย.-ธ.ค.มีการเร่งทำสัญญาโดยใช้วิธีการพิเศษเป็นหลักเพื่อให้ทำสัญญาได้ทันเวลา
ส่วนการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณขึ้นมาในกระบวนการจัดทำงบประมาณ"สตง."พบว่าไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อโครงการต่าง ๆ ได้พิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจสูงสุดมาแล้ว คณะอนุกรรมการดังกล่าวไม่สามารถพิจารณาจัดสรรงบประมาณตามประสิทธิภาพได้
ซุกงบฯผิดประเภทอื้อ
สำหรับค่าใช้จ่ายประจำปี2557ที่สูงเป็นอันดับ 1 คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวม 2,471.90 ล้านบาท หรือ 45.15% โดยในส่วนนี้ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ยังสูงเป็นอันดับ 1 คือ 369.66 ล้านบาท รองลงไปคือค่าจ้างที่ปรึกษา 363.03 ล้านบาท ค่าจ้างเหมาบริการ 333.58 ล้านบาท
ที่สำคัญคือจากการตรวจสอบเอกสารของ สตง. พบข้อสังเกตว่า 1.ในส่วนของค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ เกือบทั้งหมดยังใช้การจัดจ้างงานด้วยวิธีการพิเศษ และเป็นรายเดิมซ้ำ ๆ โดยให้เหตุผลว่า เป็นงานที่มีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ต้องจ้างผู้มีฝีมือโดยเฉพาะหรือชำนาญพิเศษ แต่เมื่อตรวจสอบรายละเอียดพบว่าบางงานไม่ได้มีความซับซ้อนและไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะแต่อย่างใด
2.ค่าจ้างที่ปรึกษาจากการตรวจสอบพบว่าต้องมีการปรับปรุงการบันทึกบัญชีและจัดประเภทใหม่เป็นจำนวนมากยังคงมีสัญญาจ้างที่รวมการศึกษาดูงานต่างประเทศเข้าไปรวมด้วย บางสัญญาเชิญที่ปรึกษาเพียงรายเดียวยื่นข้อเสนอ ทำให้ กสทช.เสียโอกาสในการเปรียบเทียบคุณสมบัติทั้งด้านคุณภาพและราคา
ทั้งจากการเลือกตรวจสัญญา 16 สัญญา พบว่ามี 9 สัญญาที่คณะที่ปรึกษาเกินกว่า 50% ไม่ได้เป็นบุคลากรของสถาบันการศึกษาคู่สัญญา แต่เป็นบุคคลภายนอกทั้งภาครัฐ เอกชน ขณะที่การจ้างที่ปรึกษาของ กสทช.ให้เหตุผลว่า เป็นงานที่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ แต่การที่สถาบันการศึกษาใช้บุคคลภายนอกซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานประจำของบริษัทเอกชนดำเนินการแทน แสดงว่า สถาบันการศึกษาไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอย่างแท้จริง จึงเป็นเหตุให้น่าสงสัยว่าทำไมสำนักงาน กสทช. จึงเจาะจงเลือกจ้างสถาบันการศึกษา
ทั้งยังพบว่าใน 16 สัญญาที่ตรวจสอบ รายได้จากการจ้างเข้าเป็นเงินของสถาบันการศึกษาโดยตรงเพียง 6.68% เท่านั้น ขณะที่รายจ่ายส่วนใหญ่ในโครงการเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร หากบุคลากรส่วนใหญ่มาจากบริษัทเอกชน จึงปฏิเสธไม่ได้ที่อาจถูกมองว่าเป็นการทำสัญญาอำพรางผ่านทางสถาบันการศึกษา โดยผู้รับงานที่แท้จริงเป็นบริษัทเอกชน
3.ค่าจ้างเหมาบริการ สูงเป็นอันดับ 3 พบว่ามีการบันทึกบัญชีผิดประเภทจำนวนมาก มีการบันทึกค่าใช้จ่ายที่สาธารณชนให้ความสนใจ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ค่ารับรองและพิธีการ เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและสัมมนา หรือค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์แทน เป็นต้น
และพบว่าบัญชีค่าใช้จ่ายบันทึกผิดงวดบัญชีอีกถึง 126.92 ล้านบาท ส่งผลให้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของผู้บริหารผิดพลาดได้
65% ชี้เป้าซื้อ-ส่อเอื้อประโยชน์
เมื่อประเมินการใช้งบประมาณปี 2557 ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแล้วจึงพบว่า 1.การจัดซื้อจัดจ้างไม่มีประสิทธิภาพ เหตุจากทั้งหมด 1,655 สัญญา ได้เลือกใช้วิธีการพิเศษ 42% รวมเป็นเงิน 1,196.81 ล้านบาท และวิธีการตกลงราคา 23% รวมเป็นเงิน 666.24 ล้านบาท หรือรวมแล้วเท่ากับ 65% ของการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งทั้ง 2 วิธีอาจเปิดโอกาสให้ทุจริตหรือเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่ง ทั้งส่วนใหญ่ สำนักงาน กสทช. จะเรียกผู้รับจ้างรายเดียวมาเสนอราคา ทำให้ไม่เกิดการเปรียบเทียบราคาและต่อรอง จึงทำให้อาจเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่สูงกว่าความเป็นจริงได้
ในรายงานของ "สตง." ระบุอีกว่าเป็นที่น่าสังเกตว่า มี 96 โครงการที่สำนักงาน กสทช. สามารถดำเนินการทำสัญญาในวงเงินราว 96-100% ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรรนั้น เป็นเพราะสำนักงาน กสทช.มีประสิทธิภาพสูงในการวางแผนงบประมาณจัดซื้อได้พอดี หรือมีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้างให้เสนอราคาได้เท่ากับหรือใกล้เคียงกับราคากลาง
2.การจัดซื้อจัดจ้างเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่งและทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้รับจ้างกับเจ้าหน้าที่ของกสทช. โดยจากการเลือกตัวอย่างในการตรวจสอบของ สตง.พบว่า ใน 19 บริษัทที่เลือก มี 12 บริษัท ที่มีสัดส่วนรายได้ตามงบการเงินของบริษัทเกินกว่า 50% มาจากการรับงานจากสำนักงาน กสทช. ซึ่งทั้งหมดเป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการพิเศษหรือตกลงราคา และมีถึง 5 บริษัทที่มากกว่า 80%
ทั้งมีบางบริษัทที่ผู้ถือหุ้น และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจผูกพันบริษัท เป็นคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงบริการธุรกิจ ของ กสทช. ด้วย ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ก่อตั้งขึ้นเพียง 2 วันก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะอนุกรรมการ และเพียงเดือนเศษก็เข้ามาทำสัญญาให้เช่ารถประจำตำแหน่ง 1 คันกับสำนักงาน กสทช.
และเมื่อตรวจสอบงบการเงินที่บริษัทนำส่งกรมพัฒานาธุรกิจการค้าพบว่า รายได้ทั้งหมดมาจากการทำสัญญากับ กสทช. เท่านั้น ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยในการทำธุรกิจอย่างมาก
3.มีการจัดซื้อจัดจ้างที่อาจมองได้ว่า เป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างเพื่อให้อยู่ภายใต้อำนาจการอนุญาตของเลขาธิการ กสทช. แทนที่จะต้องรอความเห็นชอบจากบอร์ด กสทช. อาทิ โครงการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรขององค์กร (ERP) จำนวน 2 ระบบ โดยมีการทำสัญญาในวันที่ 26 ธ.ค. 2556 วงเงิน 49.90 ล้านบาท และวันที่ 27 ธ.ค. 2556 อีก 49.91 ล้านบาท
ขึ้นเงินคูปองทีวีดิจิทัลพบพิรุธ
ขณะที่โครงการสำคัญอย่าง การแจกคูปองส่วนลด 690 บาท เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลให้ประชาชนนั้น สตง. พบปัญหาหลายประเด็น อาทิ การขาดการประชาสัมพันธ์ไปถึงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ประชาชนถูกหลอกลวงและมีปัญหาการเรียกเก็บสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านจากผู้นำชุมชนที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการมีเอกสารไม่ครบตามข้อกำหนดเดิมที่วางไว้ด้วยต้องการให้เอกชนได้รับเงินเร็วขึ้น แต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยง และยิ่งส่งเสริมให้มีการเรียกเก็บสำเนาเอกสารของผู้นำชุมชน เพราะไม่ต้องมีการรับรองสำเนา
จากการลงพื้นที่ของ สตง.พบว่า มีกรณีที่ร้านค้าตัวแทนของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการตามที่มีการอ้างการเบิกจ่าย เป็นเพียงร้านรับถ่ายเอกสารและไม่มีกล่องทีวีดิจิทัลวางจำหน่าย ทั้งเจ้าของร้านยังยืนยันว่าไม่ได้เป็นร้านค้าตัวแทน ไม่ได้เป็นจุดรับแลกกล่อง แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลในระบบบริหารจัดการโครงการของ กสทช.กลับพบว่า ร้านค้าดังกล่าวมีสถิติรับแลกคูปองสูงผิดปกติ เฉลี่ยถึงวันละ 1,500 กล่อง เป็นเหตุให้น่าเชื่อว่า มีการแอบอ้างชื่อร้านค้าแห่งนี้เข้าร่วมโครงการ
และยังมีการแจกคูปองส่วนลดในพื้นที่ที่สัญญาณยังไม่ครอบคลุมโดยหลายพื้นที่ตามแผนการขยายโครงข่ายยังต้องใช้เวลาอีกระยะจึงมีประชาชนส่วนหนึ่งที่รู้ว่าอยู่ในจุดอับสัญญาณไม่ใช้สิทธิ์ แต่ก็ยังมีกลุ่มที่ไม่รับทราบแล้วนำคูปองไปใช้สิทธิ์แต่กลับรับชมไม่ได้ ทำให้เกิดการสูญเสียเงินจำนวนมากโดยประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้การดำเนินงานมีปัญหาอย่างมาก เนื่องจาก กสทช.ขาดข้อมูลที่จะใช้ในการตัดสินใจอย่างรอบด้าน การแก้ปัญหาจึงเป็นการแก้ปัญหารายวันไปเรื่อย ๆ ไร้ทิศทางในการดำเนินการและไร้แผนงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1478506148
ไม่มีความคิดเห็น: