กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) ระดมทุนไม่เกิน 5.32 หมื่นลบ. เปิด PO ที่ 13.60-13.90 บาท/หน่วย
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) กำหนดช่วงราคาเสนอขายหน่วยลงทุนที่จะเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป (PO) ที่ 13.60-13.90 บาท/หน่วย โดยจะเสนอขายหน่วยลงทุนจำนวนไม่เกิน 3.83 พันล้านหน่วย ซึ่งจะจัดสรรให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิ (Preferential Public Offering :PPO)) จำนวนไม่เกิน 2.78 พันล้านหน่วย อัตราการใช้สิทธิจองซื้อที่ 2.0911 หน่วยลงทุนเดิม ต่อ 1 หน่วยลงทุนใหม่ กำหนดวันที่เริ่มขึ้นเครื่องหมายเพื่อกาหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ (XB) วันที่ 12 เม.ย.61 และกำหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ (Record Date) วันที่ 17 เม.ย.61 นอกจากนี้จะจัดสรรหน่วยลงทุนใหม่ จำนวนไม่น้อยกว่า 1.05 พันล้านหน่วย เสนอขายประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนฯ คาดว่าจะประกาศราคาเสนอขายสุดท้ายอย่างช้าวันที่ 14 พ.ค.61 โดยราคาเสนอขายสุดท้ายนั้นขึ้นกับสภาวะตลาดและราคาตลาดของหน่วยลงทุนในช่วงที่มีการเสนอขาย รวมทั้งอาจขึ้นกับปริมาณความต้องการในการจองซื้อหน่วยลงทุนใหม่ของผู้ลงทุนสถาบัน (Bookbuild)
สำหรับกำหนดการจองซื้อสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีสิทธิ สำหรับผู้จองซื้อทั่วไป และผู้จองซื้อพิเศษ ที่ไม่ได้นำส่งใบ Bookbuilding ยกเว้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ระหว่างวันที่ 2-4 และ 7-8 พ.ค.61 โดยต้องชำระค่าจองซื้อหน่วยลงทุนที่ราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น คือ ที่ราคา 13.90 บาท/หน่วย และสำหรับผู้จองซื้อพิเศษที่ได้นำส่งใบ Bookbuilding และทรู จองซื้อตั้งแต่วันที่ 15-16 พ.ค.61 โดยจะต้องชำระค่าจองซื้อหน่วยลงทุนที่ราคาเสนอขายสุดท้าย
ส่วนผู้จองซื้อที่เป็นประชาชนทั่วไป สำหรับผู้จองซื้อทั่วไปให้จองซื้อตั้งแต่วันที่ 2-4 และ 7-11 พ.ค.61 โดยจะต้องชำระค่าจองซื้อหน่วยลงทุนที่ราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น คือที่ราคา 13.90 บาท/หน่วย และประเภทผู้จองซื้อพิเศษ และทรู นิติบุคคลผู้โอน และ/หรือ กลุ่มบุคคลเดียวกันกับนิติบุคคลผู้โอน ให้จองซื้อระหว่างวันที่ 15-16 พ.ค.61 ซึ่งจะต้องชำระค่าจองซื้อหน่วยลงทุนที่ราคาเสนอขายสุดท้าย
นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า DIF ซึ่งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ที่จัดตั้งขึ้นเป็นรายแรกและเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้พิจารณาและกำหนดให้การเพิ่มทุนจดทะเบียนครั้งใหม่ของกองทุนมีจำนวนรวมไม่เกิน 53,237 ล้านบาท (คำนวณจากมูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 10 บาท) โดยจะออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่จำนวนรวมไม่เกิน 3,831 ล้านหน่วย ซึ่งสอดคล้องกับแผนการระดมเงินทุนเพื่อนำมาใช้ลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ภายหลังได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของ DIF ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.60
ทั้งนี้ การลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งที่ 3 นี้ จะมีส่วนช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในประเทศไทย เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟนและระบบบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนมาใช้ระบบ 4G LTE และการติดตั้งระบบ 5G ในอนาคต พร้อมทั้งมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลสมบูรณ์แบบ สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่วางแผนพัฒนาเครือข่ายบรอดแบนด์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ภายในปี 63 จากปี 57 ที่ร้อยละ 27
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สาย Primary Distribution ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน Sole Global Coordinator และผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศ กล่าวว่า การระดมทุนเพิ่มเติมครั้งนี้ จะนำเงินมาลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ได้แก่
1. กรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมที่ใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 2,589 เสา 2. กรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable หรือ FOC) สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างจังหวัดประมาณ 252,006 คอร์กิโลเมตร 3. กรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสงสำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 117,871 คอร์กิโลเมตร 4. กรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสง ซึ่งรองรับระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในต่างจังหวัดประมาณ 220,428 คอร์กิโลเมตร และ 5. สิทธิการเช่าระยะยาวประมาณ 30 ปีในใยแก้วนำแสงรองรับระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 619,986 คอร์กิโลเมตร รวมทั้งสิทธิการซื้อ (Call Option) ใยแก้วนำแสงที่รองรับระบบ FTTx ดังกล่าว โดยมีราคาใช้สิทธิสำหรับซื้อกรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสง 1,300 ล้านบาท
นายประเสริฐ ดีจงกิจ SVP ผู้จัดการฝ่ายทุนธนกิจ สายวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศ กล่าวว่า มั่นใจว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้จะส่งผลให้กองทุน DIF มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น จากการมีทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่หลากหลายและครอบคลุมการให้บริการด้านโทรคมนาคมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สอดคล้องกับภาพรวมอุตสาหกรรมการสื่อสารและโทรคมนาคม ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต จึงทำให้กองทุนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
นายเอกภพ เมฆกัลจาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีม Markets Sales and Product Solutions สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน KTB กล่าวว่า ภายหลังการลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 3 แล้วเสร็จ DIF จะมีทรัพย์สิน ประกอบด้วย กรรมสิทธิ์และสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในเสาโทรคมนาคม 15,271 เสา พร้อมรองรับทุกคลื่นความถี่ กรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่าระยะยาว และสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในใยแก้วนำแสงกว่า 2.6 ล้านคอร์กิโลเมตร และกรรมสิทธิ์ในระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด 1.2 ล้านพอร์ต ซึ่งจะช่วยเพิ่มความหลากหลายของทรัพย์สินและรองรับการใช้งานที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทยมากยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้อายุสัญญาเช่าเฉลี่ยของ DIF ยาวนานขึ้น โดย DIF จะมีอายุสัญญาเช่าเฉลี่ยประมาณ 20 ปี ส่งผลให้ DIF รับรู้รายได้ภายใต้สัญญาเช่าระยะยาวซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้ DIF สามารถจัดสรรผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ การเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ของ DIF ครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนของกองทุนและร่างหนังสือชี้ชวนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่ารวมของหน่วยลงทุนที่จะเสนอขายทั้งหมดไม่เกิน 5.32 หมื่นล้านบาท ขณะที่มูลค่าที่กองทุนจะเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ไม่เกิน 5.52 หมื่นล้านบาท
ไม่มีความคิดเห็น: