15 พฤษภาคม 2556 หมอลี่ กสทช. ชี้อ้างเปลื่ยน3G แล้วความเร็วขึ้นแต่ไม่ลดราคา ถือว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากความเร็วเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว //สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบแพ็กเกจและโปรโมชั่น ทุก ๆ 15 วันถ้าผิด โทษตั้งแต่ตักเตือน ปรับ พักใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาต.
ประเด็นหลัก
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า สำหรับแพ็กเกจ และโปรโมชั่น 3 จี ที่ตามเงื่อนไขต้องลดค่าบริการ 15% เป็นสิ่งที่เอกชนต้องทำเนื่องจากก่อนหน้านี้ กทค. เคยประกาศว่าหากไม่ดำเนินการลดค่าบริการจะไม่มอบใบอนุญาต 3 จี ซึ่งมองว่าค่ายมือถือควรปฏิบัติตาม แต่ต้องไม่ใช่เพิ่มความเร็ว และให้สิทธิพิเศษ แล้วอ้างว่าเป็นการลดราคา เนื่องจากเทคโนโลยี 3 จีเป็นตัวชี้นำให้ความเร็วเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว
ในขณะเดียวกันสำนักงาน กสทช. ก็ได้ตั้งคณะกรรมการติดตามและกำกับดูแลค่าบริการ ที่ต้องรายงานผลการตรวจสอบแพ็กเกจและโปรโมชั่น ทุก ๆ 15 วัน และหากผู้ประกอบการฝ่าฝืนจะผิดตามม.15 พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 โทษตั้งแต่ตักเตือน ปรับ พักใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาต.
______________________________________
ค่าบริการ 3จี ลดหรือเท่าเดิม?
ฤกษ์ดี ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อค่ายมือถือ 3 ราย ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แตะมือเลือกวันเปิดให้บริการ 3 จี แบบไม่ยอมให้ใครน้อยหน้าใคร หรือแม้กระทั่งแข่งออกแพ็กเกจ โปรโมชั่น เพื่อมัดใจลูกค้าไม่ให้ย้ายค่ายไปหาคู่แข่ง
ในขณะที่อัตราค่าบริการภายใต้ใบอนุญาตที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และมติคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กำหนดเงื่อนไขค่าบริการมือถือลง 15% ทั้งใช้งานดาต้า (ข้อมูล) และใช้งานเสียง ที่แต่ละค่ายต่างยืดอกอย่างมั่นใจ ว่าได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเรียบร้อย
เอไอเอส ประเดิมเปิดตัวเจ้าแรก ดึงความสำเร็จของ 2 จี มาประยุกต์ใช้กับ 3 จี 2100 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้ชื่อ “Mix & Match” โดยลูกค้าระบบรายเดือนจะได้รับค่าโทรฯเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าบริการเริ่มต้น 200 บาท /เดือน จากปกติ โทรฯได้ 200 นาที แต่เอไอเอสได้ปรับค่าโทรฯเพิ่มเป็น 230 นาที โดยอัตราค่าโทรฯอยู่ที่ 0.86 บาท ได้ลดลงจากเดิม 1 บาท ในขณะที่ค่าบริการดาต้า (ข้อมูล) ถูกลงเหลือเพียง 1.5 บาท/เมกะไบต์ (MB) จากเดิม 2 บาท /เมกะไบต์
ส่วนลูกค้าที่เน้นการใช้งานดาต้าเป็นพิเศษ อาทิ แพ็กเกจ 799 บาท/เดือน จากเดิมใช้ความเร็วดาต้าสูงสุดได้แค่ 3 กิกะไบต์ (GB)ก็จะเพิ่มเป็นใช้ความเร็วดาต้าสูงสุดถึง 4 กิกะไบต์ หรือ แพ็กเกจ 99 บาท/เดือน จากเดิมดาต้าได้ 75 เมกะไบต์ เพิ่มให้ลูกค้าใช้งานถึง 90 เมกะไบต์
ด้านทรูที่เปิดตัวแปลกจากคู่แข่ง โดยประกาศเปิดตัว 4 จี แอลทีอี พร้อมออกแพ็กเกจ 4 จีเต็มรูปแบบ เริ่มต้นราคา 699 บาท ใช้ความเร็ว 4 จี ได้สูงสุด 2 กิกะไบต์ โดยทรู
ได้ลดอัตราค่าบริการดาต้าเหลือ 1 บาท/ เมกะไบต์ จากเดิมอยู่ที่ 2 บาท/1 เมกะไบต์
ดีแทค “TriNet”(ไตรเนต) แม้จะเปิดตัวล่าช้า ได้คิดไอเดีย แพ็กเกจเลือกจับคู่การใช้งานอินเทอร์เน็ต และการโทรฯ ได้แก่ ความเร็ว 3 จี ได้ 750 เมกะไบต์ มูลค่า 249 บาท, ความเร็ว 3 จี ได้ 1.5 กิกะไบต์ มูลค่า 349 บาท และความเร็ว 3 จี 3 กิกะไบต์ มูลค่า 449 บาท และการโทรฯได้แก่ โทรฯทุกเครือข่าย 250 นาที มูลค่า 180 บาท, โทรฯทุกเครือข่าย 400 นาที มูลค่า 300 บาท และโทรฯทุกเครือข่าย 800 นาที มูลค่า 500 บาท หลังจากนั้นผู้บริโภคสามารถจับคู่เลือกได้ตามความต้องการใช้งานได้อย่างเหมาะสม โดยลูกค้าจะได้ใช้งานเดือน มิ.ย.นี้
โดยจะเห็นว่าค่ายมือถือ 3 ค่ายได้ออกโปรโมชั่นมาตามการตลาดของแต่ละราย แต่สิ่งที่ผู้บริโภคควรจะเลือกขอให้ตรงตามความต้องการใช้งาน มากกว่าสิทธิพิเศษที่ค่ายมือถือป้อนให้ใช้บริการ ขณะที่การปรับลดไม่น้อยกว่า 15% กสทช.จะเร่งออกตรวจแพ็กเกจทั้งหมดในตลาด 3 จี เพื่อเอาผิดค่ายมือถือที่ละเลย และไม่ปฏิบัติตามคำขู่
อย่างไรก็ตามตลาด 3 จี ดุเดือดเรื่องเทคโนโลยี และที่สำคัญต้องแข่งเรื่องราคาที่เป็นธรรม หากค่ายมือถือใด ไม่เอาเปรียบลูกค้า รับรองลูกค้าเทย้ายค่ายตรึม.
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า สำหรับแพ็กเกจ และโปรโมชั่น 3 จี ที่ตามเงื่อนไขต้องลดค่าบริการ 15% เป็นสิ่งที่เอกชนต้องทำเนื่องจากก่อนหน้านี้ กทค. เคยประกาศว่าหากไม่ดำเนินการลดค่าบริการจะไม่มอบใบอนุญาต 3 จี ซึ่งมองว่าค่ายมือถือควรปฏิบัติตาม แต่ต้องไม่ใช่เพิ่มความเร็ว และให้สิทธิพิเศษ แล้วอ้างว่าเป็นการลดราคา เนื่องจากเทคโนโลยี 3 จีเป็นตัวชี้นำให้ความเร็วเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว
ในขณะเดียวกันสำนักงาน กสทช. ก็ได้ตั้งคณะกรรมการติดตามและกำกับดูแลค่าบริการ ที่ต้องรายงานผลการตรวจสอบแพ็กเกจและโปรโมชั่น ทุก ๆ 15 วัน และหากผู้ประกอบการฝ่าฝืนจะผิดตามม.15 พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 โทษตั้งแต่ตักเตือน ปรับ พักใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาต.
สุรัสวดี สิทธิยศ
http://www.dailynews.co.th/technology/204305
ไม่มีความคิดเห็น: