Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

29 กันยายน 2557 คาดกระทรวงใหม่ Digital Economy กรมที่จะตั้งขึ้นใหม่ 1.กรมที่ดูแลเรื่องการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ 2.กรมพัฒนาและส่งเสริมดิจิตอลเกี่ยวกับสังคม 3.กรมที่เกี่ยวกับ ไซเบอร์ คอนเท็นต์

ประเด็นหลัก


     
       *** กรมที่จะตั้งขึ้นใหม่
     
       1.กรมที่ดูแลเรื่องการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ
       2.กรมพัฒนาและส่งเสริมดิจิตอลเกี่ยวกับสังคม
       3.กรมที่เกี่ยวกับ ไซเบอร์ คอนเท็นต์
   


______________________________




ถอดโมเดลกระทรวงดิจิตอล ตามนโยบาย Digital Economy(Cyber Weekend)


นายมนู อรดีดลเชษฐ์ อดีต ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า

        จากแนวคิดของรัฐบาลยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนล่าสุดเกี่ยวกับนโยบาย Digital Economy โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เป็นประธานในการดำเนินการนโยบายเรื่องนี้ ทำให้ประเทศไทยต้องมีการปรับโครงสร้างของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลอย่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสียใหม่ เพื่อให้สามารถทำงานตอบโจทย์ตามนโยบาย Digital Economy แบบเชิงรุก
     
       แนวคิดหลักของนโยบายนี้คือ ต้องนำ ดิจิตอล เข้าไปเสริมศักยภาพการทำงานของทุกกระทรวงที่มีดิจิตอลเข้าไปเกี่ยวข้องตลอดจนต้องนำไปเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้
     
       การจะทำให้ Digital Economy ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี ของรัฐบาลนี้คือการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 9 คน โดย 3 ใน 9 คนนี้ คือ นายมนู อรดีดลเชษฐ์ อดีต ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ,นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายสิทธิชัย โภไคยอุดม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที

ถอดโมเดลกระทรวงดิจิตอล ตามนโยบาย Digital Economy(Cyber Weekend)
นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

        ***เผยแผนปรับกระทรวงใหม่
     
       แหล่งข่าวในคณะทำงานกล่าวว่า คณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่เข้ามาปรับโครงสร้างของกระทรวงไอซีที ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อกระทรวงใหม่ ซึ่งแนวคิดในตอนนี้ชื่อของกระทรวงจะเปลี่ยนเป็น กระทรวงดิจิตอลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้ชื่อนี้หรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาชื่อที่เหมาะสมเพราะต้องคิดชื่อให้สอดคล้องสำหรับการเรียกเป็นภาษาอังกฤษด้วย
     
       ชื่อของกระทรวงใหม่นี้จะเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของกระทรวงให้ทำงานสอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะทุกกระทรวงล้วนแต่ต้องนำดิจิตอลเข้าไปขับเคลื่อน ดังนั้นกระทรวงนี้ต้องเป็นผู้ประสานและเป็นกระทรวงหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
     
       สำหรับขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงต้องเริ่มต้นที่การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับนโยบาย Digital Economy ประกอบด้วย พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ,พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ,พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ตลอดจนการตั้ง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการโอนย้ายตั้งกรม กอง ใหม่ในกระทรวง เพื่อให้สามารถเพิ่มกรมในกระทรวงไอซีทีได้ ควบคู่กับการหาความชัดเจนในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งทับซ้อนกับการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการเดินหน้าการทำงานต่อไป

ถอดโมเดลกระทรวงดิจิตอล ตามนโยบาย Digital Economy(Cyber Weekend)
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที

        แนวคิดในการเพิ่มกรมในกระทรวงนั้นก็เพื่อให้การทำงานของกระทรวงไอซีทีสอดรับในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยกรมที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วย กรมแรก คือกรมที่ดูแลเรื่องการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งต้องนำดิจิตอลช่วยอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงไอซีทีต้องดำเนินการ กรมที่สองคือ กรมพัฒนาและส่งเสริมดิจิตอลเกี่ยวกับสังคม ทำให้ดิจิตอลเข้าไปมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาความยากจน และกรมที่เกี่ยวกับ ไซเบอร์ คอนเทนต์ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้ไอทีอย่างชาญฉลาด ตลอดจนการควบคุมดูแลเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม
     
       นอกจากนี้ยังต้องแก้ พ.ร.ฎ. สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า เพื่อปรับบทบาทขององค์กรให้สอดรับกับแนวคิด Digital Economy ด้วย ขณะที่เรื่องของบุคลากรที่ต้องเพิ่มเติมนั้น คณะทำงานมีแนวคิดในการดึงบุคลากรจาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มาเข้าสังกัดของกระทรวงไอซีทีด้วย โดยนักวิจัยที่จะมาต้องมีคุณสมบัติหลักคือสามารถเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่นวัตกรรมที่ต่อยอดในเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้
     
       สำหรับระยะเวลาในการทำงาน คาดว่าภาย 2-3 เดือนจะสามารถหาข้อสรุปของการปรับแก้กฎหมายและส่งเรื่องให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเสร็จ จากนั้นแนวคิดต่างๆที่กล่าวมาก็จะเริ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนชื่อกระทรวงใหม่ การขับเคลื่อนของกระทรวงใหม่จะเกิดขึ้นบนกฎหมายใหม่ นโยบายต่างๆก็ต้องกำหนดขึ้นให้สอดคล้อง ซึ่งหากหลังจากรัฐบาลชุดนี้หมดวาระในการบริหารงานกฎหมายต่างๆเหล่านี้ก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับรัฐบาลใหม่ในการบริหารงานต่อไป ดังนั้นผู้ที่รับผิดชอบจะเปลี่ยนหรือหลีกเลี่ยงไม่ทำตามแนวนโยบายที่ตั้งไว้ ตามกฎหมาย ไม่ได้
     
       'หากจะทำให้เรื่องนี้สำเร็จจริงๆ ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี แต่นี่คือหลักสูตรเร่งรัด เพราะรัฐบาลชุดนี้ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี ดังนั้นต้องเร่งเคลียร์กฎหมายให้เสร็จภายใน 2-3 เดือน เมื่อกฎหมายผ่าน แนวนโยบายต่างๆที่คณะทำงานคิดขึ้นก็จะถูกนำเสนอเข้าครม.เพื่อพิจารณาต่อไป'

ถอดโมเดลกระทรวงดิจิตอล ตามนโยบาย Digital Economy(Cyber Weekend)
นายพรชัย รุจิประภา รมว.ไอซีที

        *** พร้อมรับนโยบาย Digital Economy
     
       ด้านนายพรชัย รุจิประภา รมว.ไอซีที กล่าวว่า เรื่องการขอบุคลากรจากเนคเทคมาอยู่ในสังกัดกระทรวงไอซีทีนั้นในเบื้องต้นได้พูดคุยกับ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ที่จะมาต้องเต็มใจมาและทางกระทรวงไอซีทีต้องเตรียมตำแหน่งให้ค่าตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาวไว้รองรับ เรื่อง Digital Economy เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทรวงไอซีทีรับมาจากรัฐบาลโดยตรง ด้วยการทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการประสานงานกับทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานที่ต้องนำดิจิตอลเข้าไปเกี่ยวข้อง
     
       กระทรวงต้องทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในการนำไอซีทีเข้าไปใช้ประโยชน์กับองค์กรต่างๆ รวมถึงการนำออกมาสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมด้วย เช่น การส่งเสริมการใช้ไอซีทีกับเอสเอ็มอี เป็นต้น ทุกเรื่องที่มีไอซีที กระทรวงต้องดูแลและ กระทรวงต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการระดับชาติในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ
     
       'นโยบายนี้เป็นนโยบายระยะยาว เราต้องผลักดันให้เกิดแนวคิดในรัฐบาลนี้เพื่อให้รัฐบาลต่อไปสามารถนำไปสานต่อได้ นโยบายนี้เหมือนการทำเรื่องอีสเทิร์น ซีบอร์ด ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวเหมือนกันกว่าจะเห็นผล ต้องประสานกับหลายหน่วยงาน ซึ่งผมเคยทำมาก่อน และนี่ก็คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลสนใจชวนผมมาทำงานในตำแหน่งนี้ เพราะเรื่องนี้ต้องประสานกับหลายกระทรวง อุปสรรคของกระทรวงที่ผ่านมาคือการประสานงานกับกระทรวงอื่น รัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในอันดับ 7-10 ของพรรค เวลาไปคุยกับรัฐมนตรีในกระทรวงอื่นเขาใหญ่กว่า หรืออาจจะเป็นคนละพรรคซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายของกระทรวงไอซีที การประสานงานก็เลยยาก'
     
       ขณะที่นายพันศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า ทางเนคเทคไม่ได้ขัดข้องอะไรสำหรับเรื่องนี้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของนักวิจัยแต่ละคนเอง ซึ่งเรื่องนี้หาก
       รัฐมนตรีของทั้ง 2 กระทรวง เจรจากันได้ ทางเนคเทคก็ไม่ขัดข้อง
     
       *** เผยรายชื่อร่วมแก้ปัญหาทับซ้อน
     
       ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานได้เสนอรายชื่อเข้าไปเป็นคณะทำงานร่วมกับกระทรวงไอซีที เพื่อร่วมกันทำงานแก้กฎหมายและกรอบการทำงานที่ทับซ้อนกันแล้ว 4 คนประกอบด้วย เลขาธิการกสทช., นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ ด้านกิจการโทรคมนาคม ,นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. และผู้เชี่ยวชาญพิเศษของกสทช. โดยปลัดกระทรวงไอซีทีทำหน้าที่เป็นประธานและเลขาธิการกสทช.จะทำหน้าที่เป็นรองประธาน
     
       'กฎหมายที่ทางกสทช.เห็นว่าทับซ้อนกับกระทรวงไอซีที คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ,พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ,พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซึ่งเรื่องนี้ต้องนำเรื่องเสนอเข้า สนช.คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ก.พ.-มี.ค. 2558'
     
       ขณะที่ในด้านรายชื่อคณะทำงานร่วมกับ กสทช.ของฝั่ง กระทรวงไอซีทีนั้น นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงไอซีทีเปิดเผยรายชื่อว่าประกอบด้วย นางทรงพร โกมลสุรเดช รองปลัดกระทรวงไอซีที ,นางอารีวรรณ ฮาวรังษี ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ นายสมศักดิ์ ศุภจิราวัฒน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย โดยมีปลัดกระทรวงไอซีทีเป็นประธานคณะทำงาน
     
       *** กฎหมายที่ต้องแก้ให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2558
     
       พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
       พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
       พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
       พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
       พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
       พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
       การตั้ง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการโอนย้ายตั้งกรม กอง ใหม่ในกระทรวงและต้องแก้ พ.ร.ฎ. ของซิป้า
     
       *** กรมที่จะตั้งขึ้นใหม่
     
       1.กรมที่ดูแลเรื่องการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ
       2.กรมพัฒนาและส่งเสริมดิจิตอลเกี่ยวกับสังคม
       3.กรมที่เกี่ยวกับ ไซเบอร์ คอนเท็นต์
     
       *** วัตถุประสงค์
     
       1.ต้องนำดิจิตอลช่วยอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงไอซีทีต้องดำเนินการ
       2.เพื่อทำให้ดิจิตอลเข้าไปมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาความยากจน
       3.เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้ไอซีทีอย่างชาญฉลาด ตลอดจนการควบคุมดูแลเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม


http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9570000110478

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.