Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

02 มกราคม 2558 (บทความ) เปิดใจ "พรชัย รุจิประภา" ว่าที่เจ้ากระทรวงใหม่ กับแผนงานขับเคลื่อนดิจิตอลอีโคโนมี // ในส่วนการดำเนินการด้านการวางโครงข่ายของหน่วยงานที่เข้าร่วม จะออกมาในลักษณะของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราฟันด์)

ประเด็นหลัก



ในส่วนการดำเนินการด้านการวางโครงข่ายของหน่วยงานที่เข้าร่วม เบื้องต้นอาจเป็นในลักษณะของการตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างหน่วยงานรัฐที่มีโครงข่าย หรืออาจร่วมกับภาคเอกชน จากนั้นจะมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินด้านโครงข่ายที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อปรับมูลค่าเหมาะสมทางบัญชี (บุ๊กแวลู) ในการแบ่งผลประโยชน์ตามสัดส่วนเช่นเดียวกับหุ้น แต่จะออกมาในลักษณะของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราฟันด์) หรือไม่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ การที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อให้การดำเนินการมีเอกภาพ และโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วโดยโรดแมปของการวางโครงข่ายให้ครอบคลุมการใช้งานของคนไทย 24 ล้านครัวเรือน โดยตั้งเป้าภายในปี 2559 จะต้องครอบคลุม 80% และ 95% ภายในปี 2560



_____________________________________________________














เปิดใจ "พรชัย รุจิประภา" ว่าที่เจ้ากระทรวงใหม่ กับแผนงานขับเคลื่อนดิจิตอลอีโคโนมี

โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ

ในปี 2558 นี้ ถือได้ว่าเป็นปีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่รัฐบาลจะเริ่มมีการขับเคลื่อนนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ คือ "ดิจิตอล อีโคโนมี" อย่างเป็นทางการ

ในการขับเคลื่อนนี้เองจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (อซีที) ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง บทบาท หน้าที่ หรือแม้กระทั่งชื่อไปเป็น "กระทรวงเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล" เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่เปรียบเสมือนฝ่ายเลขาฯ ช่วยขับเคลื่อนงานของคณะกรรมการดิจิตอลอีโคโนมี ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2558 เป็นการเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนงานที่มีอยู่เดิมของกระทรวงไอซีที

"มติชน" ได้รับเกียรติจาก "นายพรชัย รุจิประภา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญของประทรวงไอซีทีไปสู่การเป็นกระทรวงน้องใหม่แต่หน้าเดิมในครั้งนี้

ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อกระทรวง

แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าชื่อกระทรวงใหม่จะเป็นกระทรวงเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอลหรือไม่ แต่สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนชื่อกระทรวง เพราะงานเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ดิจิตอลเป็นสิ่งที่กว้างกว่าเดิม และเป็นเรื่องของการเอาเทคโนโลยีใหม่ใส่เข้าไป พร้อมกับงานขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการผลิตต่างๆ อย่างเช่น ในภาคอุตสาหกรรมจะต้องทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เอาไอทีไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ ฉะนั้น ขอบเขตการทำงานจึงใหญ่และครอบคลุมมากกว่างานเดิม

โครงสร้างกระทรวงใหม่เป็นอย่างไรบ้าง

งานโครงสร้างกระทรวงใหม่ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นชื่อกระทรวงต้องบอกเลยว่าเป็นงานที่สาหัสมาก เพราะจากมติที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ออกมานั้นได้อนุมัติโครงสร้างกระทรวงใหม่ในเบื้องต้นจะมีการแบ่งออกเป็น 5 หน่วยงานย่อย ซึ่งประกอบด้วย 1.สำนักรัฐมนตรี 2.สำนักปลัด 3.สำนักงานเศรษฐกิจดิจิตอล 4.กรมอุตุนิยมวิทยา และ 5.สำนักงานสถิติแห่งชาติ

นอกจากนี้จะต้องมีการโอนย้ายอำนาจหน้าที่ ทรัพย์สินจากไอซีที และหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของไอซีทีเดิมไปยังกระทรวงใหม่ด้วย ซึ่งการโอนย้ายดังกล่าวได้มีการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แล้วว่าจะขอละเว้นข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ไม่ให้มีการเพิ่มอัตรากำลัง หรือไม่ก็เอาอัตราเกษียณจากกระทรวงอื่นมาไว้ที่กระทรวงใหม่ และหน่วยงานที่อยู่ใต้กระทรวง เพราะภารกิจหน้าที่จะเยอะขึ้นมาก

โดยในส่วนของกำลังคนนั้นพบว่าอาจจะต้องเพิ่มเป็นจำนวนหลัก 100 คนขึ้นไป ซึ่งส่วนหนึ่งอาจใช้วิธีโอนย้ายมาจากหน่วยงาน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงได้มีการเจรจากับทาง ก.พ.เกี่ยวกับเรื่องอัตราผลตอบแทน เพราะตลาดไอทีมีเงินเดือนค่าตอบแทนสูง ขณะที่ภาคราชการเงินเดือนจำกัด หรือเรียกได้ว่าผลตอบแทนน้อย

"อย่างผมสมัยที่เป็นปลัดกระทรวงพลังงานเงิน 65,000 บาท ครั้นมาเป็นรัฐมนตรีไอซีทีเงินเดือนอยู่ที่ 73,000 บาท ซึ่งเมื่อไปเปรียบเทียบกับบุคลากรในสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กลับพบว่า คนในหน่วยงานเหล่านั้นมีเงินเดือนหลักแสน ฉะนั้นเรื่องเพิ่มค่าตอบแทนจึงจำเป็น"

นักเศรษฐกิจดิจิตอลทัที่เกิดขึ้นใหม่จะมีบทบาทอย่างไร

สำนักงานเศรษฐกิจดิจิตอลที่เกิดขึ้นใหม่ เป็น 1 ใน 5 โครงสร้างหลักของกระทรวงจะมีสถานะเป็นกรม ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจดิจิตอลจะต้องไปทำหน้าที่เป็นเลขาฯของคณะกรรมการดิจิตอลอิโคโนมี เพราะในการตั้งคณะกรรมการดิจิตอลอิโคโนมีชุดใหญ่นั้นจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.... จะต้องมีคณะกรรมการเฉพาะเรื่องอีก 5 ชุด ประกอบด้วย 1.ฮาร์ด อินฟราสตรัคเจอร์ (Hard Infrastructure) 2.ซอฟต์ อินฟราสตรัคเจอร์ (Soft Infrastructure) 3.เซอร์วิส อินฟราสตรัคเจอร์ (Service Infrastructure) 4.ดิจิตอล อิโคโนมี โปรโมชั่น (Digital Economy Promotion) และ 5.ดิจิตอล โซไซตี้ แอนด์ โนว์เลจ (Digital Society and Knowledge)

และใน 5 ชุดนี้ก็ยังต้องการฝ่ายเลขาฯอีก 5 ชุด ซึ่งเลขาฯจะมีบทบาทหน้าที่ที่จะต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลและองค์กรอิสระที่มีอยู่ โดยในเบื้องต้นกระทรวงไอซีทีได้กันเงินไว้จำนวน 3,700 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินการของสำนักงานเศรษฐกิจดิจิตอลดำเนินการไปได้ ซึ่งงบดังกล่าวเป็นงบที่ค้างมาจากโครงการแท็บเล็ตให้นักเรียน ป.1 ของรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยงบจำนวน 3,700 ล้านบาท จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ใช้เพื่อการบริหารจัดการและอีกส่วนเพื่อใช้ขับเคลื่อนโครงการต่างๆ หรือเป็นเชื้อเพลิงในการเดินหน้างานเศรษฐกิจดิจิตอล

บุคลากรกระทรวงไอซีทีมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน

ผมได้ประชุมหัวหน้าหน่วยงาน เพื่อให้แต่ละภาคส่วนทั้งในกระทรวงและหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลอยู่ไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ลูกน้องเรื่องปรับโครงสร้างไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 3 เดือนก่อน และมีการพูดคุยกันไปแล้วรวม 6 ครั้ง ซึ่งหากตอนนี้ใครมาบอกว่ายังไม่รู้เรื่อง ผมคงต้องจัดการแล้ว เพราะขณะนี้เรื่องได้ดำเนินมาถึงตรงนี้ ตรงที่ พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ก็จะออกแล้ว จะบอกว่าไม่รู้เรื่องคงไม่ได้แล้ว เพราะกระทรวงเองก็ใกล้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงแล้วเช่นกัน แต่ก็ยอมรับว่ายังมีบางหน่วยงานที่หัวหน้างานยังไม่สื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาเท่าที่ควร

ภารกิจแรกๆ ที่จะทำมีอะไรบ้าง

ภารกิจแรก คือเรื่องของโครงข่าย ชัดเจน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการเจรจาว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่จะร่วม แต่จากผลการเจรจาไปในขณะนี้กับหน่วยงานที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง เพื่อการมาตั้งเป็นคณะกรรมการย่อยชุดบรอดแบนด์แห่งชาติ จาก 10 ราย มี 2-3 รายไม่ยอมร่วมด้วย อีกทั้งบางหน่วยงานร่วมด้วยแต่ก็ยังกั๊กข้อมูลอยู่ แต่ในภาพรวมหลายหน่วยงานก็ยังให้ความร่วมมือดี โดยเฉพาะพวกหน่วยงานด้านการไฟฟ้า ส่วนหน่วยงานที่ไม่ยอมเข้าร่วมเบื้องต้นจะรายงานไปยังนายกรัฐมนตรีให้ได้ทราบถึงผลการดำเนินการ และไปเจรจากับรัฐมนตรีต้นสังกัดให้สั่งการลงมา คาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนมกราคมว่าจะมีหน่วยงานเข้าร่วมดำเนินการกี่ราย หลังจากนั้นจึงค่อยเริ่มสั่งการดำเนินการ

ในส่วนการดำเนินการด้านการวางโครงข่ายของหน่วยงานที่เข้าร่วม เบื้องต้นอาจเป็นในลักษณะของการตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างหน่วยงานรัฐที่มีโครงข่าย หรืออาจร่วมกับภาคเอกชน จากนั้นจะมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินด้านโครงข่ายที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อปรับมูลค่าเหมาะสมทางบัญชี (บุ๊กแวลู) ในการแบ่งผลประโยชน์ตามสัดส่วนเช่นเดียวกับหุ้น แต่จะออกมาในลักษณะของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราฟันด์) หรือไม่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ การที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อให้การดำเนินการมีเอกภาพ และโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วโดยโรดแมปของการวางโครงข่ายให้ครอบคลุมการใช้งานของคนไทย 24 ล้านครัวเรือน โดยตั้งเป้าภายในปี 2559 จะต้องครอบคลุม 80% และ 95% ภายในปี 2560

ผลงานเด่นๆ ของกระทรวงใหม่ในปี 2558 มีอะไรบ้าง

ในปีนี้ (2558) แค่งานจัดโครงสร้างใหม่ก็หืดขึ้นคอแล้ว แค่ให้จัดกระทรวงพร้อมทำงานไปได้ก็เป็นเรื่องที่เพียงพอแล้ว เพราะจุดสำคัญของการเดินหน้านโยบายต่างๆ ก็คือจัดกระทรวง โดยตามแผนงานการจัดกระทรวงใหม่พร้อมให้เดินหน้างานที่ต้องการได้ คาดจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ส่วนชื่อกระทรวงใหม่ไม่ว่าจะเป็นชื่อกระทรวงเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอลหรือไม่ เดือนเมษายนนี้ก็สามารถใช้ได้แล้ว

"แค่การเปลี่ยนชื่อกระทรวงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว เพราะต้องไปไล่นั่งแก้เอกสารทั้งหมดที่มีหัวกระทรวงไอซีที อีกทั้งต้องเปลี่ยนคนและวิธีคิดคนอีก จึงทำให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านอาจต้องกินเวลาสักระยะ"

อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานปีแรกจะล่าช้า แต่ก็อยากขอโอกาส อยากให้โอกาสเราในการทำงาน เพราะหากไปเร็วสุดท้ายทำงานไม่ได้จะเป็นเรื่องที่แย่ยิ่งขึ้น ฉะนั้น การปูพื้นฐานปีแรกจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผมเคยจัดตั้งหน่วยงานใหม่มา 4-5 หน่วยงานนั้นพบว่าหากปีแรกปูพื้นฐานไม่ดี ปัญหาก็จะตามมาไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเรื่องนี้คนไทยมักไม่เข้าใจ คิดแค่ว่าต้องมีผลลัพธ์ออกมา แต่แท้จริงแล้วโครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญมาก จะทำให้เดินได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่ที่จุดนี้ จึงอยากให้เข้าใจว่างานไหนที่ต้องใช้เวลาก็ต้องใช้เวลา

ปัญหาที่ผ่านมาก็คือรัฐบาลทุกรัฐบาลถูกบีบให้เร่งรัดการทำงานทุกชุด จากการที่มักโดนตั้งคำถามถึงนโยบายที่ออกมา ผลลัพธ์ที่ได้คือรัฐบาลที่ผ่านมาไปแก้ปัญหาแบบใช้มาตรการระยะสั้นในการสร้างผลงานและทิ้งงานระยะยาวไว้ทั้งหมด คนก็ถูกระดมไปแก้ปัญหางานสั้น ทั้งแผนที่ทำแล้วเป็นพื้นฐานของประเทศที่แท้จริง หากย้อนกลับไปดูจะพบว่าเป็นแผนที่ยาวทั้งนั้น เช่น กรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสต์เทิร์นซีบอร์ด สามารถดำเนินการได้จนประสบความสำเร็จ ก็เป็นโครงการที่ดำเนินการยาวมาแล้วราว 20 รัฐบาล จากยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาจนถึงปัจจุบัน

ขั้นตอนสู่ความสำเร็จของดิจิตอลอีโคโนมีเป็นอย่างไร

งานอะไรที่ต้องทำ และเราสามารถทำได้เลยก็ต้องทำเลย แม้ขณะนี้จะยังไม่มี พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติออกมาก็ตาม ซึ่งก็คิดกันว่าจะออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯชั่วคราวเพื่อตั้งคณะกรรมการออกมาทำงานก่อน โดยหลังจากออกระเบียบสำนักนายกฯจะเป็นการเตรียมงานในขั้นตอนต่างๆ หรือขับเคลื่อนงานในบางส่วนที่สามารถทำได้ก่อนต้องใช้อำนาจเต็มตาม พ.ร.บ. จากนั้นเมื่อ พ.ร.บ.เสร็จสิ้น มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการก็จะคลอดแผนโรดแมปทั้งในภาพรวมและงานแต่ละด้านออกมาภายใน 6 เดือน ซึ่งงานในปีแรกจะเป็นในเรื่องของการวางโครงสร้างเป็นหลัก และจะเห็นผลหรือเป็นรูปเป็นร่างเป็นเนื้อเป็นหนังภายใน 2 ปีนับจากนี้แน่นอน




ที่มา : นสพ.มติชน




http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1420104850

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.