Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

01 สิงหาคม 2559 Penguinsim เชื่อ ตลาด MVNO ไทยยังไปได้ ม คงต้องใช้เวลา แง่จำนวนจะมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของโครงข่ายจะเปิดแค่ไหน ถ้ามีแต่แคทรายเดียวแบบนี้ เจ้าอื่นจะทำก็ยาก

ประเด็นหลัก
- ตลาด MVNO ไทยยังไปได้

ปกรณ์ : ไปได้ แต่จะไปไกลเหมือนต่างประเทศไหม คงต้องใช้เวลา แง่จำนวนจะมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของโครงข่ายจะเปิดแค่ไหน ถ้ามีแต่แคทรายเดียวแบบนี้ เจ้าอื่นจะทำก็ยาก

โอกาสทางการตลาดมีอยู่แล้ว แต่โอกาสทางธุรกิจจะมีหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับซัพพลาย
_______________________________________________ "เพนกวิน" ซิมอีโค มือถือค่ายเล็กท่ามกลางสงครามยักษ์



สัมภาษณ์

สร้างกระแส "เพนกวิน" ซิมอีโคให้เป็นที่กล่าวถึงทั้งในแวดวงออนไลน์ และปูพรมปักธง "สีเหลือง" ตามร้านตู้ในต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่เพิ่งเปิดตัวไม่ถึง 5 เดือน กลายเป็นค่ายมือถือแบบ MVNO (ไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง) ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก สมกับดีกรีทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ยาวนานกับค่ายยักษ์กังหันสีฟ้ามาก่อน "ประชาชาติธุรกิจ" พาคุยกับ 2 ผู้บริหารของบริษัท เดอะไวท์สเปซ จำกัด "ชัยยศ จิรบวรกุล" CEO และ "ปกรณ์ พรรณเชษฐ์" Head of Marketing



- 4 เดือนที่ทำตลาด

ปกรณ์ : มี.ค. ช่วงเปิดตัวแบรนด์ได้กลุ่มออนไลน์เยอะ ไม่ได้ตั้งใจจะเจาะแค่ออนไลน์ แต่พอดีมันแรงมาก พอ พ.ค.ก็มุ่งไปออกทีวีเน้นรายการที่ชาวบ้านชอบดู พวกประกวดร้องเพลง ชกมวย

- ตลาดที่จะจับจริง ๆ

ปกรณ์ : ตลาดบ้าน ๆ ส่วนออนไลน์คอไอที คือสร้างความเชื่อถือไว้ก่อน ให้มีรีวิวข้อมูลคุณภาพไว้ พอเวลาชาวบ้านจะซื้ออะไรก็มักจะค้นข้อมูล อ่านรีวิวจากพวกกูรูก่อน ก็จะมีพอดีถือเป็นจังหวะ

- ปัญหาในการทำตลาด

ชัยยศ : แค่สงกรานต์ 2 แสนเบอร์แรกก็หมดแล้ว เพราะช่องทางจำหน่ายเยอะ ทั้งรีเทล ร้านตู้ เซเว่นฯ รวม 16,000 จุด ให้ซื้อซิมง่าย เติมเงินง่าย เราก็ใส่ไป 2 แสนจุด ตั้งแต่เดือนแรก เน้นในต่างจังหวัดก่อน ตอนนี้ 2.5 แสนจุดเติมเงินแล้ว

MVNO กสทช.ก็จะให้มา 2 แสนเลขหมายก่อน ก็หารือกันจนได้ปรับเกณฑ์เริ่มที่ 5 แสนเบอร์ ซึ่งเราก็จะได้สิทธิ์ย้อนหลังไปด้วย แต่กว่าจะได้เพิ่มก็ราว พ.ค.แล้ว

แต่กฎเดิมจะขอเบอร์ใหม่ได้ต้องขายของเดิมถึง 70% ก่อน จุดนี้ก็จะคุยกับ กสทช.ให้เข้าใจว่า สำหรับรายใหญ่เหลือ ก็หลายล้านเบอร์ แต่ถ้าเป็นรายเล็กก็แค่ 1.5 แสนเบอร์ ไม่พอขายแน่ แล้วยังต้องมีเวลาผลิตซิมอีก 30-45 วัน

ปกรณ์ : ถ้าจะไปแมส ต้องมีซิมทิ้งไว้ในตลาดรอขายราว 5 แสนเบอร์ อย่างของเราแค่วางที่ละ 10 เบอร์ก็ไม่พอแล้ว มันต้องมีวางเกินไว้ให้ลูกค้าเลือกเบอร์ได้ด้วย

- ทำให้ต้องอั้นการทำตลาด

ชัยยศ : ต้องมีประมาณการให้เป๊ะ กลายเป็นต้องเลือกทำตลาดเฉพาะที่มั่นใจจริงๆ เผื่อไม่ค่อยได้

- อุปสรรคอื่นในแง่เกณฑ์กำกับดูแล

ชัยยศ : เดี๋ยวนี้บริการมือถือเกี่ยวพันกับธุรกรรมที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่น เช่น ฟินเทค ถ้ากติกาชัด เราก็สามารถจับมือกันเพิ่มบริการใหม่ ๆ ให้ลูกค้าได้

แล้วก็ยังมีประเด็นเรื่องค่าไอซี (อินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ) ที่เคยพูดหลายครั้งว่าจะทบทวน ซึ่งรายเล็กกับรายใหญ่ก็อาจจะไม่ต้องใช้เรตเดียวกันก็ได้

เพราะรายเล็กคือรับมาขายต่อ ต้นทุนจากโอเปอเรเตอร์ก็ต้องบวกค่าไอซีออนท็อปขึ้นไป อย่างที่เราคิดตอนนี้คือ วินาทีละ 1 สตางค์ เท่ากับนาทีละ 60 สตางค์ แต่ค่าไอซีตอนนี้คือ นาทีละ 34 สตางค์ เราก็มีส่วนเกินแค่ 26 สตางค์ ซึ่งเราก็ต้องเอาไปจ่ายแคท ไปจ่ายค่าดิสทริบิวฯ ส่วนเรตที่เคยคุยกันก็ 10-11 สตางค์

และยังมีเรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ที่มองว่าสำหรับรายเล็ก น่าจะซอยย่อยสเต็ปรายได้แต่ละขั้นให้ถี่ลงหน่อย

- ตลาด MVNO ไทยยังไปได้

ปกรณ์ : ไปได้ แต่จะไปไกลเหมือนต่างประเทศไหม คงต้องใช้เวลา แง่จำนวนจะมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของโครงข่ายจะเปิดแค่ไหน ถ้ามีแต่แคทรายเดียวแบบนี้ เจ้าอื่นจะทำก็ยาก

โอกาสทางการตลาดมีอยู่แล้ว แต่โอกาสทางธุรกิจจะมีหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับซัพพลาย

ชัยยศ : ในระยะปานกลางถึงยาว ยังไปได้พอสมควร แต่ก็อยู่ที่กฎ กสทช.จะเอื้อให้ ในต่างประเทศ โอเปอเรเตอร์รายใหญ่จะมี 3-4 เจ้า แต่จะมี MVNO เป็นสิบ แต่ละเจ้าก็เก่งกันในแต่ละเซ็กเมนต์

- เพนกวินทำตลาดเหมือนค่ายใหญ่ แต่ย่อส่วน

ชัยยศ : ถ้าเจาะลงลึกไปมันมีความต่าง อย่างเพนกวินชัดเจนว่า เป็นอีโคโอเปอเรเตอร์ เน้นพรีเพดต่างจังหวัด ที่คนใช้เขาไม่อยากใช้อะไรที่งง ๆ อยากใช้แบบประหยัด

- แล้วถ้าค่ายใหญ่ลงมาเล่นด้วย

ปกรณ์ : ก็เหนื่อย ต้องหาช่องอื่น แต่ข้อดีของรายเล็ก คือ เฟล็กซิเบิล ปรับเปลี่ยนได้ตลอด

- ไม่ต้องมี 4G ก็ได้

ปกรณ์ : ก็ยังพออยู่ได้ แต่ถ้าเกิน 4-5 ปีก็คงยาก

ชัยยศ : เทคโนโลยีต้องอัพเกรดอยู่เรื่อย ๆ แคทเองก็ตั้งใจจะทำให้เน็ตเวิร์กที่ดีที่สุด ต้นทุนการให้บริการ 4G/MB มันจะดีกว่า แคทอยากอัพเกรดอยู่แล้ว

- แต่คลื่นได้แค่ปี 2568 แล้วหลังจากนั้น

ชัยยศ : ยังไม่รู้เลย ไม่ได้มองไกลขนาดนั้น

ปกรณ์ : มีฐานลูกค้าแล้ว จะพลิกไปได้อีกเยอะ MVNO มีข้อดี คือ ต้องเก่งด้านตลาดและดิสทริบิวชั่น เมื่อแบรนด์เริ่มติดว่า เพนกวิน คือ อีโค เรียบง่าย อนาคตจะทำอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับธุรกิจเดียว แต่ธุรกิจนี้จะเป็นธุรกิจหลัก

- เหมือนสตาร์ตอัพมาก

ปกรณ์ : ใช่ ถ้ามีโอกาสอะไรเกิดใหม่ ที่น่าสนใจ พร้อมปรับไปรับได้หมด

- สภาพการแข่งขันของตลาดมือถือ

ชัยยศ : แข่งกันจนเกินจุดที่มีเหตุผลไปเยอะ ทุกค่ายฟาดฟันหนักมากเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน จากสัมปทานไปไลเซนส์ ความถี่เริ่มเปลี่ยนมือ คนชนะก็อยากจะรีบให้คุ้มที่ลงทุนประมูลไป ก็ทุ่มตลาดสุด ๆ เพื่อซื้อมาร์เก็ตแชร์ รายเดิมไม่อยากเสียแชร์ รายใหม่จะเอาให้ได้ ก็เลยเป็นอย่างที่เห็น

ปกรณ์ : แต่มันคือไซเคิลของตลาดทั่ว ๆ ไป เมื่อ 7-8 ปีที่แล้วก็จะมีสงครามราคาจนเลือดสาด และสักพักก็จะมีคนหนึ่ง ไปคุยกะอีก 2 เจ้าที่เหลือว่า เลิกแข่งกันเถอะ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ต่ำสุด น่าจะแข่งกันอีกสักพัก

- จุดที่จะทำให้หยุด

ชัยยศ : มีการเปลี่ยนอันดับมาร์เก็ตแชร์ มี New Normal เกิดขึ้นก่อน

- มีโดนรับน้อง

ชัยยศ : เป็นเรื่องปกติ แล้วเดี๋ยวนี้้กีดกันกันไม่ได้แล้ว แต่เราก็เลือกตลาดที่จะเข้าไป เพราะมันไม่ได้แข่งกันดุทุกที่ทุกเวลา และต้องหาจุดแตกต่างในแง่ของโปรดักต์ เพราะพื้นฐานคือเราซื้อต่อเขามาอีกทอดหนึ่ง ก็ต้องคิดอินโนเวทีฟ

ราว ต.ค.นี้ก็คงเห็นบริการใหม่เพิ่มขึ้น ตอนนี้อาปู้พรีเพดก็ร้อยกว่าบาท ก็ไม่ได้น้อยกว่าค่ายใหญ่ ๆ ส่วนลูกค้าก็ 2 แสนกว่าราย สิ้นปีเป้า 5 แสน น่าจะไม่มีปัญหา

- สำเร็จได้เพราะอยู่ในวงการมาก่อน

ปกรณ์ : มันเป็นอุตสาหกรรมที่เฉพาะตัว มีความลึกอยู่ ในวงการก็มีอยู่แค่ 3 รายใหญ่ ทีโอที แคท

ชัยยศ : กสทช.พยายามจะผลักดันให้เปิดมากขึ้น และเป็นความเชื่อส่วนตัวว่า หลังจากสงครามมันซา มี New Normal New Standard กันใหม่ ความถี่แบนด์วิดท์ ความจุโครงข่ายจะเหลือพอสมควร เพราะแต่ละรายตุนกันไว้แล้ว แล้วอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีคลื่น 1800 MHz ออกมาอีกหลังจากหมดสัมปทาน

- ความถี่จะไม่ใช่ข้อจำกัด

ชัยยศ : ใช่ พอความถี่มีมากขึ้น ถ้าราคาของไลเซนส์ยังสูง เขาก็ต้องการได้เงินคืนกลับไปเร็ว การขายโฮลเซลให้ได้มาก ก็จะได้กำไรไวกว่า ต้นทุนของเน็ตเวิร์กในอนาคตของแต่ละรายจะต่างกันน้อยมาก ก็จะเน้นเรื่องมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น แต่มันก็จะย้อนไปที่ว่า ไม่ใช่แค่มีเงินก็มาทำได้

- มีไอเดียจะเปิดประมูลแยกให้รายใหม่

ชัยยศ : เราคงไม่มีเงินขนาดนั้น

ปกรณ์ : ส่วนตัวมองว่า ถ้าเปิดให้เฉพาะคลื่น แต่ส่วนอื่นอย่างการแชร์โครงข่ายยังยากมาก ก็ต้องคิดหนัก

ชัยยศ : บางประเทศ องค์กรกำกับจะกำหนดเวลาชัดเจนว่า ถ้า MVNO จะเจรจากับเจ้าของโครงข่าย 6 เดือนไม่คืบหน้า หรือมีประเด็นที่ยังติดขัด ก็จะไปเป็นมอดูเลเตอร์ได้

- เหมือน/ต่างกับตอนทำแบรนด์แฮปปี้

ปกรณ์ : เรามีประสบการณ์มากขึ้น และตลาดเปลี่ยนจากเป็นแค่โปรดักต์กับโฆษณา เป็นโปรดักต์ โฆษณา เอ็นเกจเมนต์ แอ็กทิวิตี้ กับแคแร็กเตอร์

ชัยยศ : แต่ภาพใหญ่รู้สึกคล้าย ๆ เดิม คือ สนุกสนาน ได้ทำอะไรที่ไม่เหมือนเดิม เพียงแต่ตัวตลาด วิธีการเปลี่ยนไป ก็น่าสนุกดี แล้วเราไม่ใช่แค่เป็นมวยรองในตลาด แต่เป็นซูเปอร์มวยรอง ทีมเราเล็กมาก แต่มันก็ใกล้ชิดกันมากพอ

- เหมือนจะไม่ค่อยกดดัน

ชัยยศ : คนละแบบ เพราะนี่มันตังค์เรา

ปกรณ์ : เมื่อก่อนกดดัน เพราะกระบวนการทำงานของบริษัทใหญ่ ที่มีคนเกี่ยวข้องเยอะ บริษัทเล็กจะผิดถูกบ้างก็ไม่เป็นไร

ส่วนการพลิกกลยุทธ์ให้แข่งในตลาดได้ มันมีอยู่แล้ว แต่จะไม่มีอารมณ์แบบเดี๋ยวประกาศมาร์เก็ตแชร์ออกมาแล้วจะแพ้ เป้าก็ไม่ได้ตั้งไว้ดุเดือดเหมือนก่อน ที่จะมีแรงกดดันจากข้างบนเยอะมาก

- แต่มีข้อจำกัดเรื่องเงิน

ชัยยศ : แน่นอน แล้วก็ยังมีพวกความพร้อมด้านเครื่องไม้เครื่องมือทั้งหลายที่น้อยกว่าเยอะมาก

แต่สุดท้ายมันก็สนุกดีได้ความรู้สึกที่มีพลังทั้งในแง่ของตัวเองกับทีมงานแล้วเมื่อได้เห็นสิ่งที่ทำออกไปแล้ว ตลาดมีผลตอบรับที่ดีระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับแบรนด์ใหม่ เทียบกับข้อจำกัดทั้งหลาย

- จะมีผู้ถือหุ้นใหม่มาเพิ่ม

ปกรณ์ : ยัง เรารอให้เป็นสตาร์ตอัพซีรีส์เออยู่ (หัวเราะ)

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1469436646

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.