Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

8 มกราคม 2556 (เตือนรัฐบาลและผู้ปกครอง) "ด้านมืดของเน็ต" แท็บเล็ตป.1 เหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ ต้องเตรียมพร้อมให้เด็ก


ประเด็นหลัก


 "ด้านมืด" ของอุปกรณ์ไอทีเหล่านั้น ยังไม่มีปรากฏให้ผู้ปกครองคลายความกังวลแต่อย่างใด กระทั่งความตระหนักของหน่วยงานที่รับผิดชอบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดกับอนาคตของชาติ หากเด็ก ๆ ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพบนอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่มีปรากฏต่อสังคมแม้สักเล็กน้อย ซึ่งเท่ากับว่า นโยบายนี้อาจกำลังส่งอนาคตของชาติไปเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ แถมยังอาจลากครอบครัวของเด็ก ๆ ไปร่วมรับผิดชอบกับความ "ขาดการเตรียมพร้อม" ของรัฐบาลอีกด้วยนั่นเอง


ความเสี่ยงอันเกิดจากการเข้าเว็บลามกอนาจาร
   
       โดยมากแล้ว การคลิกเข้าเว็บไซต์ลามกอาจเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็ก จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์​ และการที่อุปกรณ์ขาดการป้องกัน แต่สิ่งที่จะตามมาจากการเข้าเว็บไซต์เหล่านั้นคือ บรรดาสปายแวร์ที่จะโหลดมาฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ไอที หากร้ายแรงหน่อยก็อาจเป็นไวรัสที่พร้อมจะทำลายข้อมูล หรือทำให้คอมพิวเตอร์รวนได้


ผลจากการสำรวจของไชลด์วอทช์ ยังพบด้วยว่า เด็กเฉลี่ยร้อยละ 20 ยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ร้อยละ 10 สูบบุหรี่เป็นประจำ ร้อยละ 12 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ร้อยละ 7 เล่นพนันฟุตบอลเป็นประจำ ร้อยละ 9 พบเห็นการเสพยาเสพติดร้ายแรงในสถานศึกษาเป็นประจำ ในด้านความรุนแรงร้อยละ 14 เคยพบเห็นการพกพาอาวุธและการทำร้ายร่างกายในสถานศึกษา ร้อยละ 10 เคยถูกกรรโชกรีดไถในสถานศึกษา

ตอกย้ำอีกระลอกด้วยผลสำรวจของ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่า เด็กอายุระหว่าง 15–19 ปี ร้อยละ 20–40 เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และในวัยรุ่นหญิงมีการตั้งครรภ์ไม่พร้อมถึงร้อยละ 10 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 5 มีการทำแท้ง และอีกร้อยละ 5 กลายเป็นคุณแม่ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม เพราะยังอยู่ในวัยเรียน







___________________________________







"ด้านมืดของเน็ต" ภัยที่เด็กเล็กต้องรู้เท่าทัน! (แม้รัฐบาลไม่รู้ก็ตาม)


       ในวันที่รัฐบาลไทยตัดสินใจนำแท็บเล็ตพีซีมาใช้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์การเรียนการสอน แถมยังเป็นการใช้งานกับเด็กเล็กมากอย่างเด็กชั้นประถม 1 แม้จะอ้างว่าทำเพื่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่เชื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนมากที่เฝ้าดูอยู่ คงเกิดความกังวลใจไม่ต่างกัน เพราะนอกจากความพร้อมในเรื่องของบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการจัดหาแท็บเล็ตพีซีให้เด็ก ๆ ใช้แล้ว การเตรียมความพร้อมในด้านอื่น ๆ เพื่อรับมือกับ "ด้านมืด" ของอุปกรณ์ไอทีเหล่านั้น ยังไม่มีปรากฏให้ผู้ปกครองคลายความกังวลแต่อย่างใด กระทั่งความตระหนักของหน่วยงานที่รับผิดชอบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดกับอนาคตของชาติ หากเด็ก ๆ ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพบนอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่มีปรากฏต่อสังคมแม้สักเล็กน้อย ซึ่งเท่ากับว่า นโยบายนี้อาจกำลังส่งอนาคตของชาติไปเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ แถมยังอาจลากครอบครัวของเด็ก ๆ ไปร่วมรับผิดชอบกับความ "ขาดการเตรียมพร้อม" ของรัฐบาลอีกด้วยนั่นเอง
     
       ขณะที่ฟากประเทศอังกฤษ กลับตรงกันข้าม เนื่องจากรัฐบาลมีการริเริ่มที่จะสอนให้เด็ก 3 ขวบรู้จักกับด้านมืดของอินเทอร์เน็ตกันแล้ว เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าสู่โลกออนไลน์อย่างปลอดภัย รวมถึงสอนให้เด็ก ๆ รู้จักจัดการข้อมูลส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์ด้วย



       จากความแตกต่างกันทางด้านนโยบายนี้ อีกทั้งการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง ทีมงาน Life & Family จึงขออาสาพาผู้ปกครองและเด็ก ๆ ไปรู้จักกับด้านมืดของอินเทอร์เน็ตว่ามีอะไรกันบ้าง และจะป้องกันไม่ให้ครอบครัวตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร เชิญติดตามได้เลยค่ะ
     
       1. ฟิชชิ่ง
     
       ฟิชชิ่งอีกหนึ่งรูปแบบของการหลอกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล กับการสร้างหน้าเว็บหลอก ๆ ขึ้นมาให้หน้าตาดูคล้ายเว็บไซต์ชื่อดัง เช่น หน้าเว็บ Yahoo Mail แล้วส่งลิงค์ หรืออีเมลมาชักชวนให้คุณคลิกเข้าไปที่หน้าเว็บนั้น สิ่งที่เขาต้องการก็คือ การป้อน ID และพาสเวิร์ดจากคุณ หรือเด็ก ๆ ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์​ จากนั้นเหล่ามิจฉาชีพจะนำ ID และพาสเวิร์ดของคุณที่ป้อนเข้ามาไปใช้ได้ในหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น นำไปหลอกลวงผู้อื่นว่าคุณกำลังตกที่นั่งลำบาก ไม่มีเงินติดตัว ขอให้โอนเงินให้หน่อย หรือหากมิจฉาชีพนำ ID และพาสเวิร์ดไปล็อกอินเข้าอีเมลของคุณ และจัดการเปลี่ยนพาสเวิร์ด รวมถึงส่งอีเมลมาข่มขู่ขอเงินค่าไถ่ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
     
       นอกจากนั้น หากสังเกตให้ดี ชื่อ "ฟิชชิ่ง" ที่ใช้เรียกการหลอกลวงลักษณะดังกล่าวก็มาจากการตกปลาที่ต้องใช้เหยื่อล่อนั่นเอง
     
       เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นเหยื่อ การป้องกันภัยฟิชอาจทำได้ดังนี้
     
       1. ไม่เปิดเมลจากคนที่ไม่รู้จัก ให้คลิก Delete ไปเลย หรือหากมีข้อความ จากคนที่ไม่รู้จักส่งมาทางช่องทางต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก Line ก็ให้คลิก Delete ไปเช่นกัน
       2. ถ้าหลงเปิดเมลเข้าไปแล้ว พบว่ามีข้อความเชิญชวนให้คลิกตามลิงค์ที่่ส่งมา ก็ให้กดปุ่ม Delete เช่นกัน
       3. ไม่คลิกโฆษณาบนอินเทอร์เน็ต แม้จะน่าสนใจเพียงใดก็ตาม
       4. ถ้าหลงกล คลิกลิงค์โฆษณาไปแล้ว พึงตระหนักว่า ห้ามกรอกข้อมูลใด ๆ ลงบนเว็บเหล่านั้นเด็ดขาด
       5. หากทราบว่า พฤติกรรมผู้ใช้ไม่ค่อยมีความระแวดระวัง หรือไว้ใจข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตมาก ควรติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยที่เชื่อถือได้เอาไว้ในอุปกรณ์ด้วย
     
       2. ความเสี่ยงอันเกิดจากการเข้าเว็บลามกอนาจาร
     
       โดยมากแล้ว การคลิกเข้าเว็บไซต์ลามกอาจเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็ก จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์​ และการที่อุปกรณ์ขาดการป้องกัน แต่สิ่งที่จะตามมาจากการเข้าเว็บไซต์เหล่านั้นคือ บรรดาสปายแวร์ที่จะโหลดมาฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ไอที หากร้ายแรงหน่อยก็อาจเป็นไวรัสที่พร้อมจะทำลายข้อมูล หรือทำให้คอมพิวเตอร์รวนได้
     
       3. ความผิดที่เกิดจากโพสต์ข้อความ คลิปต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสม
     
       เวลาที่มีข่าวว่าเด็ก ๆ มีการถ่ายคลิปการทะเลาะตบตี การมีเพศสัมพันธ์กัน หรือการยกพวกรุมทำร้ายกัน แล้วโพสต์ลงบนอินเทอร์เน็ตให้เป็นที่อับอายนั้น คนทั่วไปอาจเสพข่าวดังกล่าวด้วยความสลดใจ แต่คนเป็นพ่อแม่ของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อนั้นเสพข่าวด้วยความเสียใจอย่างที่สุด และผู้ที่โพสต์คลิปเหล่านั้นก็มีความผิดตามกฎหมายด้วย (พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐)
     
       4. ความผิดที่เกิดจากการแฮกข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่น
     
       ในเด็กเล็กบางคนอาจทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ตนเองทราบ ID และพาสเวิร์ดของเพื่อน จึงอยากลองล็อกอินด้วยชื่อของเพื่อนบ้าง และเมื่อล็อกอินได้แล้วก็เกิดความคึกคะนอง นำยูสเซอร์เนมของเพื่อนไปใช้โพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสมบนโลกอินเทอร์เน็ต การกระทำเหล่านี้ก็มีความผิดตามกฎหมาย
     
       5. การแชร์ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม
     
       เดี๋ยวนี้ฟังก์ชันแชร์ข้อมูลมีปรากฏให้คลิกตามเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ มากมาย แต่การแชร์ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ลามกอนาจาร หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่นนั้นอาจทำให้เด็ก ๆ ต้องรับผิดทางกฎหมายได้เช่นกัน ดังนั้น แม้จะไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความต่าง ๆ นั้นด้วยตัวเอง แต่การแชร์ ส่งต่อ ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมก็ไม่ควรทำด้วยประการทั้งปวง



       นอกจากนั้น สิ่งที่เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้เมื่อต้องรับผิดชอบอุปกรณ์ไอทีสักชิ้นหนึ่งก็คือ "การจัดการข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์" ซึ่งคำแนะนำมีดังนี้
     
       1. ไม่จำเป็นว่าเด็ก ๆ จะต้องโพสต์ทุกอย่างเกี่ยวกับตนเองลงบนโลกออนไลน์ ทั้งชื่อจริง ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ เพราะทุกวันนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ทำให้บุคคลแม้จะอยู่ห่างจากเราแม้เป็นพัน ๆ ไมล์ ก็สามารถติดตามเราได้จากข้อมูลที่เราโพสต์ลงไป
     
       2. ควรฝึกแสดงความคิดเห็นในเชิงบวก หลายครั้งที่คนดังบนโลกออนไลน์ใช้การโพสต์ข้อความในเชิงลบสร้างชื่อให้แก่ตนเอง แต่สำหรับเด็กที่เพิ่งเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ต หรืออุปกรณ์ไอที ควรถูกปลูกฝังว่า การมีตัวตนบนโลกออนไลน์นั้นไม่จำเป็นต้องโพสต์แต่ข้อความเชิงลบ หรือเป็นเกรียนอย่างเดียว การเป็นคนที่มองโลกในแง่บวกก็สามารถทำได้เช่นกัน แถมข้อดีคือ เสี่ยงต่อการตกเป็นจำเลยน้อยกว่ามาก
     
       สุดท้าย ผู้ปกครองควรฝึกความรับผิดชอบควบคู่การใช้งานไอที เพราะเด็กยังเป็นเด็ก การที่เด็กได้รับอุปกรณ์ไอทีมาใช้เครื่องหนึ่งไม่ได้หมายความว่า มันจะเข้ามาทดแทนช่วงเวลาแห่งการปลูกฝังพฤติกรรมดี ๆ ไปได้ ดังนั้น พ่อแม่ต้องหัดให้ลูกรู้จักแบ่งเวลา รวมถึงมอบหมายความรับผิดชอบอื่น ๆ เช่น การทำงานบ้าน การรับผิดชอบตัวเอง ฯลฯ เหมือนเดิม รวมถึงหากิจกรรมอื่น ๆ ให้ลูกเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น พาไปทัศนศึกษา หรือทำกิจกรรมเพื่อสังคม ไม่ให้เด็กหมกมุ่นอยู่กับอุปกรณ์ไอทีมากจนเกินไป
     
       ส่วนคำถามที่ว่า จริง ๆ แล้ว วัย 5 - 6 ขวบนี้เหมาะสมหรือยังกับการเรียนรู้ด้วยอุปกรณ์ไอทีดังกล่าว แทนที่จะเอาเวลาไปฝึกเขียนหนังสือ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้พร้อมมากขึ้น ลดโอกาสการเสียสายตาในเด็ก ฯลฯ เหล่านี้ อีกไม่นานเราคงได้เห็นผลกันกับตา ซึ่งก็ขอวอนว่าบุคคลในคณะรัฐบาลเจ้าของนโยบายนี้อย่าเพิ่งล้มกระดานหนีไปนอกประเทศก็แล้วกัน


http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9560000001768

____________________



"3ต้อง-3ไม่" สกัดภัย "แท็บเล็ต"

เอกซเรย์ “เด็ก-เยาวชนไทย” ปี 2556 ผจญเทคโนโลยีคุกคามเต็มรูปแบบ

“รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน”

คำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2556 ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มอบให้เด็กและเยาวชนไทยทุกคน ใน วันเด็กแห่งชาติปีนี้ซึ่งจะตรงกับวันที่ 12 ม.ค.2556

แต่คำขวัญวันเด็กที่สวยหรู ยิ่งนับวันก็ยิ่งยากที่จะสานความฝันให้เป็นจริงได้ดั่งใจปรารถนา เพราะทุกวันนี้สิ่งจูงใจ ยั่วยุ มอมเมา จากสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีซึ่งไม่ต่างจากดาบ 2 คม ล้วนแล้วแต่อยู่ใกล้ตัวเด็กไทยแค่เอื้อม และมักจะนำมาซึ่งสารพัดปัญหาที่หลายครั้งก่อให้เกิดวิกฤติกับเด็กไทยทั้งสิ้น

ข้อมูลจาก โครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดการเชิงพื้นที่เพื่อการวิเคราะห์สภาวการณ์และขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชน หรือไชลด์วอทช์ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เมื่อปี 2555 พบว่า เด็กและเยาวชนไทยยังต้องเผชิญกับสภาพปัญหาเดิมๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านค่านิยมทางเพศ ความเสี่ยงด้านอบายมุข และความรุนแรง

ผลจากการสำรวจของไชลด์วอทช์ ยังพบด้วยว่า เด็กเฉลี่ยร้อยละ 20 ยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ร้อยละ 10 สูบบุหรี่เป็นประจำ ร้อยละ 12 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ร้อยละ 7 เล่นพนันฟุตบอลเป็นประจำ ร้อยละ 9 พบเห็นการเสพยาเสพติดร้ายแรงในสถานศึกษาเป็นประจำ ในด้านความรุนแรงร้อยละ 14 เคยพบเห็นการพกพาอาวุธและการทำร้ายร่างกายในสถานศึกษา ร้อยละ 10 เคยถูกกรรโชกรีดไถในสถานศึกษา

ตอกย้ำอีกระลอกด้วยผลสำรวจของ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่า เด็กอายุระหว่าง 15–19 ปี ร้อยละ 20–40 เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และในวัยรุ่นหญิงมีการตั้งครรภ์ไม่พร้อมถึงร้อยละ 10 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 5 มีการทำแท้ง และอีกร้อยละ 5 กลายเป็นคุณแม่ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม เพราะยังอยู่ในวัยเรียน

นั่นคือปัญหาเก่าที่ยังคงเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนไม่มีทีท่าที่จะลดลงแต่อย่างใด ซ้ำร้ายหลายเรื่องดูยิ่งจะเพิ่มความรุนแรงจนเกือบเข้าข่ายวิกฤติ ที่สำคัญในปี 2556 อีกหนึ่งปัจจัยที่จะเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาและส่อเค้าจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ เทคโนโลยี โดยเฉพาะแท็บเล็ต จะจู่โจมเข้าคุกคามเด็กไทยอย่างเต็มรูปแบบ ด้วย

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต และนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุชัดว่า ประเทศไทยจะต้องพบกับปัญหาเรื่องการใช้เทคโนโลยีของเด็กและเยาวชนอย่างเต็มรูปแบบ

“สิ่งที่น่ากลัวและน่าเป็นห่วงที่สุด สำหรับเด็กและเยาวชนในยุคนี้ คือเรื่องของการใช้เทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ที่ภายในระยะเวลา 4–5 ปีที่ผ่านมา มีการใช้แท็บเล็ตอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กและเยาวชนที่กำลังเป็นที่นิยม ที่ผู้ปกครองมักจะซื้อให้บุตรหลานมีไว้ใช้งานเนื่องจากราคาที่ไม่สูงมากนัก ดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องมีมาตรการการใช้งานแท็บเล็ตของบุตรหลานตัวเองด้วย เพราะหากไม่มีการควบคุม เด็กและเยาวชนจะได้รับผลกระทบจากการใช้แท็บเล็ต 12 ประการ ใน 3 ช่วงวัย” คุณหมอยงยุทธ กล่าว

เริ่มจาก ปฐมวัย หรือวัยเด็กเล็ก จะต้องเผชิญกับ 3 ปัญหาหลัก คือ 1.มีพัฒนาการเรียนรู้ช้า 2.มีสมาธิสั้น และ 3.จะไม่สามารถเข้าสังคมได้ เพราะมัวแต่หมกมุ่นกับแท็บเล็ต ส่วนวัยที่ 2 คือ ช่วงวัยเรียน จะเผชิญกับ 4 ปัญหา คือ 1.ขาดวินัยเนื่องจากการเล่นจนไม่รู้เวลาซึ่งอาจส่งผลให้ไม่เข้าเรียน 2.เกิดอาการติดเกมหรือเรียกว่าเกิดภาวะเสพติด จิตใจมุ่งแต่จะเล่นเกม 3.มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง มองเรื่องความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา และ 4.สุขภาพเสีย เกิดภาวะโรคอ้วน ส่วนช่วงสุดท้ายคือ ช่วงวัยรุ่น จะต้องเผชิญกับ 5 ปัญหา คือ 1. ปัญหาเรื่องเพศที่จะมีความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์เร็วจากสิ่งเร้ารอบตัวจากสื่ออินเตอร์เน็ต 2.พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไปเป็นกินอาหารที่สะดวกจำพวกฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น 3.ติดอินเตอร์เน็ตจนไม่อยากทำอะไร 4.มีพฤติกรรมชอบแกล้งเพื่อน เช่น การตัดต่อภาพของเพื่อนให้เกิดความเสียหาย และ 5.จะถูกล่อลวงได้ง่ายจากสื่อแท็บเล็ต

ขณะที่วิธีการแก้ไขนั้น นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำว่า จะต้องมีกฎ “3 ต้อง–3 ไม่” โดย 3 ต้อง คือ 1. ต้องกำหนดเวลาในการเล่น ว่าการเล่นในแต่ละวันไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง 2.ต้องสามารถตกลงโปรแกรมการเล่นกับลูกได้ว่าในแท็บเล็ตจะมีโปรแกรมใดบ้าง และ 3.ต้องมีเวลาเล่นแท็บเล็ตกับลูก ซึ่งหาก 3 ต้องนี้ทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องซื้อ สำหรับ 3 ไม่ คือ 1.ไม่เป็นแบบอย่างในการเล่นที่ผิด เช่น ใช้เวลาการเล่นมากเกินไป เล่นเกมที่มีความรุนแรงก้าวร้าว หรือท่องเว็บโป๊ 2.ไม่ให้ลูกมีแท็บเล็ตใช้ในห้องนอน ถ้าจะเข้าห้องต้องทิ้งแท็บเล็ตไว้นอกห้อง และ 3. ไม่ใช้อินเตอร์เน็ตในเวลาครอบครัว

อีกเพียง 5 วัน ก็จะถึง “วันเด็ก” ปี 2556 แล้ว ทีมข่าวสาธารณสุข อยากขอฝากปัญหาของเด็กและเยาวชนไทยไปยังรัฐบาลให้มีการเร่งเครื่องลงมือสะสางอย่างจริงจังและจริงใจ

แม้ข้อมูลทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีการสำรวจพบ แต่เรามองว่า หากรัฐบาลให้ความสนใจที่จะแก้ปัญหา เพื่อให้คำขวัญวันเด็ก ปี 2556 ของนายกฯยิ่งลักษณ์ สามารถเป็นจริงได้ มิใช่เพียงลมปากและการวาดฝันที่สวยหรูไปวันๆแล้ว นั่นย่อมหมายถึงอนาคตของ “เด็กไทย” จะเติบโตไปเป็น “ผู้ใหญ่” ที่มีคุณภาพส่วนใหญ่ของประเทศคงไม่ไกลเกินจริง

เราหวังว่ารัฐบาลคงไม่ดูแลปัญหาของเด็กและเยาวชนไทยแบบ “ฟังหูซ้ายทะลุหูขวา” ปล่อยให้ปัญหาเก่าหมักหมม และถูกทับถมด้วยปัญหาใหม่ที่เข้าคุกคามเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี

เพราะเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า หากปัญหาที่เกิดกับเด็กในวันนี้ยังไม่แก้ไข คงเป็นเรื่องยากที่จะไปหวังให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

และนั่นคงไม่ต่างจากโศกนาฏกรรมระดับชาติ หากอนาคตประเทศไทยมีแต่ “ผู้ใหญ่ที่ไร้คุณภาพ” เต็มบ้านเต็มเมือง!!!



ทีมข่าวสาธารณสุข
http://www.thairath.co.th/content/edu/318437

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.