Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

03 มิถุนายน 2556 (บทความ) ค่ายมือถือรุกหนัก แย่งตัวยอดฝีมือเข้าโครงการ Startup // เหตุบริษัทโทรคมนาคมไม่สามารถหารายได้จากค่าบริการรายเดือนเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป และต้องปรับตัวไปสู่ “คอนเทนต์”



ประเด็นหลัก



แรงจูงใจของบริษัทมือถือเกิดจากแนวโน้มของธุรกิจโทรคมนาคมที่เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่ขาย “ท่อ” ขาย “สาย” อย่างเดียวก็ร่ำรวยมหาศาล ตอนนี้ธุรกิจนี้มีความซับซ้อนขึ้นมาก

การมาถึงของอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ทำให้บริษัทโทรคมนาคมไม่สามารถหารายได้จากค่าบริการรายเดือนเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป และต้องปรับตัวไปสู่ “คอนเทนต์” ไม่ว่าจะเป็นแอพสารพัดชนิดหรือสื่อออนไลน์แขนงอื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าและความแตกต่างจากคู่แข่งด้วย

ทีนี้บริษัทเดียวจะมาทำคอนเทนต์เองทุกอย่างก็ไม่มีทางทำได้ วิธีที่เหมาะสมกว่าในการสร้างคอนเทนต์คือเฟ้นหาผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ ที่มีฝีมือ แล้วสนับสนุนผ่านสารพัดช่องทางที่มี เช่น เข้าถือหุ้นร่วม (กรณีของ AIS กับอีบุ๊ก Ookbee) หรือทำสัญญาธุรกิจร่วมกัน



______________________________________






ค่ายมือถือรุกหนัก แย่งตัวยอดฝีมือเข้าโครงการ Startup


ผมเคยเขียนเรื่องผู้ประกอบการไอทีหน้าใหม่ (startup) ไปครั้งหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว (http://www.thairath.co.th/content/tech/309306) คราวนี้ขอสรุปความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของวงการ startup ในบ้านเราอีกสักรอบครับ

นับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้เป็นต้นมา สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของ startup ในเมืองไทยคือค่ายมือถือใหญ่ทั้ง 3 ค่าย ต่างก็ออกโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการไอทีมาทำ startup กันถ้วนหน้า

เริ่มจากพี่ใหญ่ AIS ประกาศโครงการ The StartUP คัดเลือกคนที่สนใจอยากเปิดบริษัททำแอพมือถือเป็นของตัวเอง มาเข้าโครงการบ่มเพาะธุรกิจโดยผู้เชี่ยวชาญที่ AIS เชิญมา สร้างแอพที่ทำงานได้จริงก่อนนำเสนอต่อนักลงทุน ถ้าแอพดูมีแววน่าจะเวิร์กก็อาจได้รับเงินลงทุนเพื่อพัฒนาต่อในเชิงพาณิชย์ด้วย

งานนี้ AIS เชิญผมมาเป็นกรรมการให้ความเห็นรอบแรกเลยพอเล่าบรรยากาศได้ครับ ไม่รู้เป็นเพราะกระแส startup กำลังมาแรงหรือชื่อเสียงของ AIS หรือเปล่า แต่งานนี้คนสมัครล้นหลาม (ตัวเลขเท่าที่ทราบคือเกินพัน) เล่นเอากรรมการต้องคัดเลือกกันจนเหนื่อย สถานะล่าสุดตอนนี้ได้ 5 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว กำลังอยู่ในช่วงบ่มเพาะธุรกิจกันอยู่ อีกสักพักคงเห็นผลงานออกมาว่าเจ๋งแค่ไหน

จุดแข็งของโครงการฝั่ง AIS คือชื่อเสียงของ AIS ในฐานะโอเปอเรเตอร์อันดับหนึ่งของไทย แอพที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ทำตลาดไปพร้อมๆ กับช่องทางทั้งหมดของ AIS ที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงเครือข่ายในเอเชียของ SingTel พันธมิตรของ AIS อีกด้วย

ฝั่งของ dtac เองก็ไม่น้อยหน้า ประกาศโครงการ dtac Accelerate ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน รูปแบบโครงการมีลักษณะคล้ายๆ กันคือเปิดให้ผู้สนใจทำบริษัทแอพยื่นใบสมัครเข้ามา ผ่านการคัดเลือกเพื่อไปเข้าคอร์สธุรกิจกับ dtac ก่อนแล้วค่อยสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จริงต่อไป

จุดเด่นของ dtac คือได้มือดีอย่างคุณกระทิง พูนผล คนไทยระดับโลกที่เคยอยู่ในทีมของกูเกิลสำนักงานใหญ่ เข้ามาเป็นแกนหลักของโครงการ คุณกระทิงนั้นมีสายสัมพันธ์กับวงการ startup และนักลงทุนที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการของ dtac มีโอกาสโตต่อในระดับโลกผ่านเครือข่ายของคุณกระทิงด้วยเช่นกัน (ทีมที่ชนะเลิศจะได้เข้าโครงการของ Blackbox บริษัทลงทุนจากสหรัฐฯด้วย)

สถานะของโครงการฝั่ง dtac ก็เพิ่งได้ตัวทีมที่เข้ารอบสุดท้ายเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อรอเข้ากระบวนการด้านการบ่มเพาะธุรกิจต่อไปครับ

สุดท้ายรายล่าสุด True เพิ่งแถลงข่าวเปิดตัวโครงการแบบเดียวกันชื่อ True Incube เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง โครงการของ True จะคล้ายกับ dtac คือดึงพันธมิตรเป็นนักลงทุนผู้ปั้น startup จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาด้วย (ของ True เป็นอีกรายหนึ่งชื่อ 500 Startups)

ผมมีโอกาสไปนั่งฟังคุณศุภชัย เจียรวนนท์ บอสใหญ่ของ True แถลงข่าวเปิดตัว Incube แล้วพบว่าจุดเด่นของค่าย True คือ “จิตวิญญาณผู้ประกอบการ” ที่ฝังรากลึกอยู่กับเครือซีพีมานานตั้งแต่สมัยก่อตั้งในรุ่นพ่อของเจ้าสัวธนินท์

เห็นคุณศุภชัยเป็น “ลูกเสี่ย” แบบนี้ เอาจริงแล้วแกโชกโชนมากในการสร้างบริษัทขึ้นมาจากศูนย์ เพราะมีประสบการณ์ร่วมก่อตั้งกลุ่ม True (ในตอนนั้นชื่อ Telecom Asia) ซึ่งถือเป็นการกระโดดเข้ามาในอุตสาหกรรมไฮเทคครั้งแรกของเครือซีพี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจอะไรถ้าหาก True จะมีวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนผู้ประกอบการภายนอกให้เข้ามาร่วมสร้างธุรกิจบนโครงสร้างพื้นฐานที่ True มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ทั้งฝั่งโทรคมนาคมและสื่อสารมวลชน

เนื่องจากโครงการของ True เพิ่งเปิดตัว ดังนั้นก็อยู่ในช่วงรับสมัครผู้สนใจไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ครับ ใครสนใจลองหาข้อมูลเพิ่มจากเว็บของ True Incube กันเอง

การที่ค่ายมือถือทั้ง 3 ค่ายของบ้านเราลงมาลุยตลาดส่งเสริม startup กันอย่างคึกคักในปีนี้ เป็นสัญญาณที่ดีมากๆ ต่ออุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศไทย

แรงจูงใจของบริษัทมือถือเกิดจากแนวโน้มของธุรกิจโทรคมนาคมที่เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่ขาย “ท่อ” ขาย “สาย” อย่างเดียวก็ร่ำรวยมหาศาล ตอนนี้ธุรกิจนี้มีความซับซ้อนขึ้นมาก

การมาถึงของอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ทำให้บริษัทโทรคมนาคมไม่สามารถหารายได้จากค่าบริการรายเดือนเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป และต้องปรับตัวไปสู่ “คอนเทนต์” ไม่ว่าจะเป็นแอพสารพัดชนิดหรือสื่อออนไลน์แขนงอื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าและความแตกต่างจากคู่แข่งด้วย

ทีนี้บริษัทเดียวจะมาทำคอนเทนต์เองทุกอย่างก็ไม่มีทางทำได้ วิธีที่เหมาะสมกว่าในการสร้างคอนเทนต์คือเฟ้นหาผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ ที่มีฝีมือ แล้วสนับสนุนผ่านสารพัดช่องทางที่มี เช่น เข้าถือหุ้นร่วม (กรณีของ AIS กับอีบุ๊ก Ookbee) หรือทำสัญญาธุรกิจร่วมกัน

คำถามคือจะไปหาผู้ประกอบการจากที่ไหนดี? อ่านมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านคงทราบคำตอบดีอยู่แล้วว่าก็หามาจากโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการแบบนี้นั่นเอง

โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการจึงเป็นความร่วมมือแบบวิน-วิน เพราะบริษัทมือถือได้รู้จักเครือข่ายผู้สร้างแอพฝีมือดี นำไปขยายผลธุรกิจต่อได้ ในขณะที่ฝั่งผู้สร้างแอพเองก็มีโอกาสได้ประกอบธุรกิจ สร้างกิจการไฮเทคของตัวเอง (ซึ่งจะนำไปสู่ความร่ำรวยในอนาคต) โดยไม่ต้องเสี่ยงไปตายดาบหน้าโดยลำพัง เพราะมีงบประมาณ-เครือข่าย-ความเชี่ยวชาญของบริษัทมือถือช่วยสนับสนุนอยู่ตลอด

ไม่ว่าจะเข้าร่วมกับค่ายไหนก็ตาม ผมฝันอยากเห็นผู้ประกอบการไทยประสบความสำเร็จกันเยอะๆ ทั้งในแง่การสร้างแอพที่มีคุณภาพ เสียงตอบรับจากลูกค้า รายได้ที่ไหลกลับมา เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้ล่ะครับจะเป็น “แกนหลักสำคัญ” ในการผลักดันวงการไอทีไทยสู่โลกในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ใครจะไปรู้ว่าอาจมี “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” คนใหม่ซ่อนตัวอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ก็เป็นได้


มาร์ค Blognone
http://m.thairath.co.th/content/tech/348821

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.